สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งกับความเคลื่อนไหวในแวดวงวิทยาศาสตร์และงานวิจัยด้านสุขภาพที่น่าสนใจ สำหรับในครั้งนี้เรามีข้อมูลพิเศษจากการศึกษาวิจัยล่าสุดที่จะมาให้คำตอบกับทุกคนที่อยากมีอายุยืนยาวว่า การรับเลือดจากคนหนุ่มสาว เคล็ดลับเพื่อชีวิตยืนยาวขึ้นได้จริงหรือไม่? ใครอยากรู้ วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้คุณแล้ว ใครจะคาดคิดว่าเคล็ดลับของการมีชีวิตเป็นอมตะด้วยการดื่มกินเลือดจากคนอายุน้อยกว่าของเค้าท์แดรกคูลา แวมไพร์ในนวนิยายสยองขวัญสุดคลาสสิคของนักเขียนชาวไอริช บราม สโตกเกอร์ จะกลายเป็นเรื่องจริงไปได้ แต่งานวิจัยล่าสุดจากสหราชอาณาจักรพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การรับเลือดจากคนหนุ่มสาวจะช่วยให้คนเรามีชีวิตยืนยาวและแข็งแรงไร้โรคภัยที่เกิดจากความชราได้ งานวิจัยของทีมนักพันธุศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า การรับเลือดจากคนวัยหนุ่มสาวจะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความชรา เช่น โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้ โดยการทดลองเบื้องต้นในสัตว์ให้ผลลัพธ์ที่ดี ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยพบว่าหนูแก่ไม่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากความชรา หลังจากพวกมันได้รับการฉีดเลือดของหนูอายุน้อยกว่าเข้าสู่ร่างกาย ผลที่ได้บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องศึกษาเรื่องโลหิตให้ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อหาโมเลกุลที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาให้สุขภาพดี ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษต้องการทดลองในสัตว์ให้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ในสหรัฐฯ มีความคืบหน้าไปไกลกว่านั้น โดย Ambrosia บริษัทสตาร์ทอัพในนครซานฟรานซิสโก ได้เริ่มการทดลองในมนุษย์แล้ว ด้วยการให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลือดจากวัยรุ่นในราคา 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 260,000 บาท) ปีเตอร์ ทีล ผู้ก่อตั้งบริษัทระบุว่าคนไข้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดแสดงอาการดีขึ้น เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายลดลง 10% และทำให้ระดับโปรตีนที่มักพบในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมลดลง 1 ใน 5 แนวคิดเรื่องเปลี่ยนถ่ายเลือดมาจากเทคนิคโบราณอายุ 150 ปี ที่ได้ทดลองในหนูซึ่งผลการศึกษาบ่งชี้ว่าเมื่อระบบไหวเวียนโลหิตของหนู 2 ตัวถูกผ่าตัดให้เชื่อมกันเลือดของหนูทั้งสองจะไหลเวียนสู่กัน ช่วยฟื้นฟูสภาพอวัยวะ กล้ามเนื้อ และเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก่อให้เกิดความกังวลด้านจริยธรรม เช่น การซื้อเลือดจากหนุ่มสาวที่อาจเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาให้เลือดแก่ผู้ป่วยที่มีความต้องการทางการแพทย์ นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังชี้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่ยืนยันว่าการรักษาเช่นนี้มีประโยชน์จริง