โลกเราในปัจจุบันไม่เพียงแต่ขาดแคลนพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ แต่ยังขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับเอาไว้บริโภคอีกด้วย ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มนี้นับวันก็ยิ่งจะลุกลามบานปลาย เราจึงต้องรีบหาทางแก้ไข ข่าวดีคือล่าสุดทีมงานนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคแห่งชาติ SLAC (SLAC National Accelerator Laboratory) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผงแป้งใช้งานร่วมกับแสงแดดช่วยฆ่าเชื้อในน้ำใช้เวลาเพียง 60 วินาที ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ใครอยากรู้ก็ตามมาหาคำตอบกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ผงแป้งดังกล่าวใช้ส่วนผสมของเกล็ดนาโนของอะลูมิเนียมออกไซด์ โมลิบดีนัมซัลไฟด์ ทองแดงและเหล็กออกไซด์ มีคุณสมบัติช่วยบำบัดน้ำให้สะอาดและเป็นสารที่สามารถจัดหาได้ในราคาไม่แพง
-
ทีมงานได้ทดลองนำสารดังกล่าวไปผสมกับน้ำและวางให้ถูกแสงแดดโดยตรงประมาณ 60 วินาที และพบว่า โมลิบดีนัมซัลไฟด์และทองแดงดูดซับโฟตอนจากแสงทำหน้าที่คล้ายสารกึ่งตัวนำทำให้เกิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และอนุมูลไฮดรอกซิลซึ่งจะฆ่าแบคทีเรียโดยการทำให้เยื่อหุ้มชั้นนอกของแบคทีเรียแตกออก
-
กระบวนการทั้งหมดทำให้ได้น้ำที่บริสุทธิ์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และอนุมูลไฮดรอกซิลที่เหลือจะแตกตัวเป็นน้ำและออกซิเจนอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำมีความปลอดภัยที่สามารถดื่มได้ นอกจากนี้ผงแป้งดังกล่าวยังสามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำได้ประมาณ 30 ครั้ง
-
ทีมงานวิจัยเชื่อว่าวิธีการผลิตน้ำสะอาดใหม่ล่าสุดนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ของโลก รวมไปถึงการพัฒนาวิธีการผลิตน้ำสะอาดสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวหรือการสำรวจในพื้นที่ห่างไกล แตกต่างจากวิธีการเดิม ๆ ที่ใช้เวลานานอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อทำให้น้ำสะอาดเพียงพอสำหรับดื่ม
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เราอยากนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน และหากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที