พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง บก.ปอศ.วางนโยบายเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เล็งเป้าหมายโรงงานกว่า 1,200 แห่ง บริษัทผู้ส่งออก 600 แห่ง บริษัทรับเหมาก่อสร้างและออกแบบตกแต่งประเภทละ 350 แห่ง รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศ ทั้งเตรียมขยายผลสู่ผู้ค้าปลีกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ เร่งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่างๆ รับทราบถึงทิศทางการทำงานเพื่อชักจูงให้เข้ามาร่วมแจ้งเตือน หวังว่าไทยจะหลุดพ้นสถานะประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (พีดับเบิลยูแอล) ตามรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐมาตรา 301 ซึ่งประเมินคู่ค้าแต่ละแห่งเป็นรายปี ขณะที่บริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ประเทศไทยจัดการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาได้ดีติดต่อกัน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549 อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องพีซีลดลงจาก 80% เหลือ 72% ในปี 2554 อยู่อันดับที่ 7 จาก 18 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น จึงตั้งเป้าปี 2555 อย่างน้อยทำให้ลดเหลือ 70% ทั้งหวังด้วยว่าปี 2558 เมื่อเปิดเออีซีจะทำให้เหลือ 50% แต่คาดว่าเป็นได้ยากมาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย “ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลต่อทั้งบริษัทผู้พัฒนาข้ามชาติ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย นำไปสู่ปัญหาการส่งออกกับต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ ขณะเดียวกัน กระทบกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงความพร้อมของประเทศเมื่อเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน” พ.ต.อ.ชัยณรงค์กล่าว อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรก บก.ปอศ.ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซี 91 แห่ง ซึ่งติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 1,434 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 174 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้พัฒนาทั้งไมโครซอฟท์ ออโต้เดสก์ และไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จากข้อมูลการละเมิด 91 แห่ง เป็นบริษัทไทย 69 แห่ง บริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ 18 แห่ง บริษัทต่างชาติ 3 แห่ง ไม่ทราบสัญชาติ 1 แห่ง อุตสาหกรรมที่ละเมิดสูงสุดกว่า 50% คือ ภาคการผลิต 45 ราย รองลงมาเป็นธุรกิจก่อสร้างกว่า 30% รวม 24 ราย ที่เหลือเป็นธุรกิจออกแบบ 12 ราย อาหาร 7 ราย และอื่นๆ 3 ราย ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือธุรกิจแอนิเมชันที่ขณะนี้แม้มีจำนวนคดีเกิดขึ้นน้อยแต่มูลค่าความเสียหายค่อนข้างสูง นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เสริมว่า การหลุดโผประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษมีองค์ประกอบหลายส่วน เช่น การแอบถ่ายภาพยนตร์ ละเมิดการถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียม ละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานคู่ขนานกันไป เพื่อช่วยรณรงค์ให้เกิดการใช้งานของแท้ค่อยๆ ปลดล็อกไปตามลำดับ เธอระบุว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาวางแผนเร่งรัดการป้องปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างปี 2555-2558 ไว้ 4 มาตรการ คือ 1. พัฒนาโครงสร้างระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 2. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับทางกฎหมาย 3. ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย และ 4. ให้การศึกษาและรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา