ใครที่เป็นคอธุรกิจการเงิน และนักลงทุนระหว่างประเทศต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรากำลังจะพาคุณมาวิเคราะห์กลยุทธ์ Made in China 2025 นัยต่อโครงสร้างการผลิตและการค้าระหว่างจีนและโลก ซึ่งมันได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวงแล้วในยุคนี้ ใครสามารถเข้าใจกลยุทธ์นี้ ก็จะมีความได้เปรียบในการวางเกมในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมันจะมีความน่าสนใจอย่างไร ใครอยากรู้ก็ตามมาดูกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- หลังการเปิดประเทศในปี 1978 จีนเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งด้านการค้าและการผลิตของโลกจนได้รับฉายา “โรงงานโลก” ทำให้ เศรษฐกิจจีน มีความอ่อนไหวจากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ทั้งด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า
กระทั่งในปี 2015 จีนได้หันมาปรับยุทธศาสตร์เป็นพึ่งพาตนเอง เริ่มจากกลยุทธ์ Made in China 2025 ที่เน้นการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและการค้าของจีน รวมทั้งประเทศคู่ค้าและไทย
- กลยุทธ์ Made in China 2025 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจจีนให้หันมาขับเคลื่อนด้วยการบริโภคและการผลิตในประเทศ (Domestic-led growth) และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้มีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน รวมถึงมุ่งสู่การเป็น smart manufacturing
โดยมีเป้าหมาย คือ
(1) ยกระดับศักยภาพของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สารสนเทศ เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ อุปกรณ์อากาศยาน การต่อเรือขั้นสูง รถไฟขั้นสูง รถยนต์พลังงานใหม่ อุปกรณ์พลังงาน เครื่องจักรการเกษตร การผลิตวัสดุชนิดใหม่ และยาชีวภาพและอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูง ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
(2) ลดการพึ่งพาการนำเข้าเพื่อการผลิตจากต่างประเทศ และ
(3) ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเราเห็นการสนับสนุนของทางการจีนใน 10 อุตสาหกรรมเหล่านี้ชัดเจน อาทิ อุตสาหกรรมสารสนเทศ
- จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการลงทุนโครงข่าย 5G หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ EV มากที่สุดในโลก ซึ่งผลิตได้ถึง 7.0 ล้านคันในปี 2022 จากที่เคยผลิตเพียง 5.1 แสนคัน ในปี 2016
-
ภายหลังการประกาศกลยุทธ์ฯ ในปี 2015 จนถึงปัจจุบัน จีนมีการลดการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สะท้อนจากอัตราการเติบโตของการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยรวม
-
ขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ (correlation coefficient) ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและการนำเข้าลดลงเหลือ 0.5 ในช่วง 2015-22 จากที่เคยสัมพันธ์กันสูงถึง 0.9 ในช่วง 2010-14 ก่อนการประกาศกลยุทธ์ฯ
-
อย่างไรก็ดี จีนยังจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าบางกลุ่มอยู่ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป เชื้อเพลิง ยางและพลาสติก
-
นอกเหนือจากกลยุทธ์ของจีนที่เน้นการผลิตในประเทศ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างการค้าระหว่างจีนและโลกเปลี่ยนไปแล้ว สงครามการค้า (Trade war) และสงครามเทคโนโลยี (Technology war) ต่างมีส่วนในการเร่งรัดให้จีนยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายและผลิตด้วยตนเองมากขึ้น โดยสัดส่วนการนำเข้าต่อ GDP ที่สะท้อนการพึ่งพาโลกของจีน ปรับลดลงจาก 22.8% โดยเฉลี่ยช่วง 2010-2014 มาอยู่ที่ 17.5% โดยเฉลี่ยช่วง 2015-2022 โดยเป็นการลดการนำเข้าจาก G3 เกาหลีใต้ และไต้หวัน
-
กลุ่มสินค้าที่จีนลดการนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนสามารถพัฒนาจนผลิตได้เอง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ Made in China 2025 และนโยบายพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี
-
อย่างไรก็ดี ก็มีประเทศที่มีบทบาทในฐานะคู่ค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Regional value chain) และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ส่งออกสินค้าขั้นต้นและสินค้าโภคภัณฑ์
-
เนื่องจากจีนลดสัดส่วนการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และนำเข้าทดแทนจากกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าประเภทเชื้อเพลิง เครื่องจักรอุปกรณ์ และ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่อาเซียนอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน
-
โดยสัดส่วนการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนต่อการนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นจาก 18.4% ในช่วง 2010-2014 มาอยู่ที่ 21.0% ในช่วง 2015-2022 นอกจากนี้ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม BRICS (ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย,อินเดีย และแอฟริกาใต้) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในฐานะคู่ค้าที่ส่งออกสินค้าเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตร เป็นต้น ให้กับจีน โดยสัดส่วนการนำเข้าจากกลุ่ม BRICS ต่อการนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นจาก 7.5% ในช่วง 2010-2014 มาอยู่ที่ 15.6% ในช่วง 2015-2022
-
ทั้งนี้ บทบาทของไทยในฐานะคู่ค้าของจีน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากนัก โดยสัดส่วนการนำเข้าจากไทยต่อการนำเข้าของจีนค่อนข้างคงที่ประมาณ 3.5% โดยไทยได้รับอานิสงส์จากการที่จีนนำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้น ที่จีนไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ ซึ่งช่วยชดเชยสัดส่วนการนำเข้าจากจีนที่ลดลง เช่น โลหะ ซีเมนต์และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
-
กล่าวโดยสรุป แม้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายจากที่เคยเปิดประเทศ และหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในของตนเองมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน และลดผลกระทบจากสงครามการค้าและเทคโนโลยี
-
แต่จีนจะยังเดินหน้าค้าขายระหว่างประเทศแบบมียุทธศาสตร์การค้าที่ชัดเจน กล่าวคือ จีนจะยังค้าขายกับสหรัฐฯ ในส่วนที่ไม่มีความขัดแย้ง อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และโทรศัพท์มือถือ ควบคู่ไปกับการค้าขายกับประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ
-
สำหรับไทยที่แม้จะอยู่ทั้งในห่วงโซ่อุปทานและมีสินค้าที่จีนยังคงจำเป็นต้องนำเข้า แต่เราควรปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีนอยู่เสมอ รวมทั้งหาช่องทางการค้าใหม่กับประเทศอื่นๆ ด้วย จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายในทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมให้ไทยได้รับประโยชน์จากบริบทการค้าของจีนและโลกที่เปลี่ยนไป
และนี่ก็คือกลยุทธ์ Made in China 2025 ที่ทำให้จีนกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ค่อยๆ กลืนโลกทั้งใบที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่านี่จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทุกคน และหากมีเรื่องราวดีๆ ด้านธุรกิจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที