พัฒนาการของลูกน้อยวัยหัดเดิน
การเฝ้าดูพัฒนาการของลูกน้อยวัยหัดเดินเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างแท้จริง จากก้าวน้อยๆเป็นกระโดดและวิ่ง จากทารกที่อ้อแอ้เป็นการพูดประโยคยาวๆ การเป็นคุณแม่นั้นเป็นบทบาทที่สำคัญมากและมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณแม่สามารถทำได้ เพื่อช่วยส่งเสริมลูกน้อยที่กำลังเจริญเติบโต คุณแม่สามารถค้นหาคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่นี่หรือหากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถสอบถามจากดูเม็กซ์แคร์ไลน์ได้ทันทีค่ะ
การให้นม
ถึงแม้พัฒนาการต่างๆ อาจชักนำให้แม่มีความรู้สึกว่าลูกน้อยวัยหัดเดินเป็นเหมือนผู้ใหญ่ตัวน้อย แต่จริงๆแล้วลูกน้อยยังต้องใช้เวลาในการเติบโตอีกมาก และความต้องการทางโภชนาการของลูกนั้นก็ค่อนข้างแตกต่างจากของผู้ใหญ่มากทีเดียว เนื่องจากลูกน้อยวัยหัดเดินต้องการอาหารที่มีไขมันสูงกว่าและมีเส้นใยอาหารที่ต่ำกว่าที่แนะนำให้สำหรับผู้ใหญ่
เพื่อให้เกิดสมดุลของพลังงานและสารอาหารในอาหารของลูกน้อย ลูกน้อยวัยหัดเดินนั้นต้องการอาหารที่ได้สัดส่วน 3 มื้อเล็กๆ ต่อวัน โดยมีของว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการระหว่างมื้ออย่างสม่ำเสมอด้วย คุณแม่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ และอาหารที่ได้สัดส่วนของลูกน้อยวัยหัดเดินได้ในหัวข้อ การหย่านม
พัฒนาการของลูกน้อยของคุณมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงวัยนี้
นอกจากพัฒนาการในการรับรู้รสชาติและรับรู้ความชอบที่มีต่ออาหารประเภทต่างๆและรสสัมผัสใหม่ๆ แล้ว ลูกน้อย วัยหัดเดินยังมีพัฒนาการด้านสามารถในสิ่งที่เขาพอทำได้ รวมถึงการสำรวจ การพูดและการเรียนรู้อีกด้วย
การแสดงออก
หลังจากที่เคลื่อนไหวช้าๆเตาะแตะไปตามเฟอร์นิเจอร์ได้ไม่กี่เดือน ลูกน้อยวัยหัดเดินของคุณแม่ก็ใกล้จะฉายเดี่ยวได้แล้วและอีกไม่นานลูกน้อยจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในการเดิน วิ่ง และกระโดดโลดเต้นไปมา ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่น่าตื่นเต้นอย่างแท้จริง
เมื่อใกล้ครบรอบขวบปีที่สองจะเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกน้อยถนัดมือซ้ายหรือมือขวาได้อย่างชัดเจนขึ้น เนื่องจากลูกจะชอบใช้ข้างที่ถนัดในการขีดเขียน เตะบอลและหยิบอาหาร นอกจากนี้ลูกน้อยยังสามารถแปรงฟันได้ด้วยตัวเอง โดยอาจมีคนคอยช่วยหรือดูแลอยู่ข้างๆด้วย
เมื่อลูกน้อยวัยหัดเดินมีพัฒนาการเกี่ยวกับทักษะในการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น ลูกจะยิ่งกระตือรือร้น ปีน กระโดด และวิ่งไปมามากขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ดังนั้น คุณแม่จึงจำเป็นต้องแน่ใจว่า อาหารของลูกน้อยมีคุณค่าและได้สัดส่วนเพียงพอกับพลังงานที่ลูกต้องการในแต่ละวัน
นักสำรวจตัวน้อย
ในช่วงวัย 12-18 เดือน ลูกน้อยวัยหัดเดินยังรู้จักคำศัพท์เพียงไม่กี่คำและไม่สามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองหรือบอกให้คุณแม่รู้ในสิ่งที่ลูกต้องการได้เสมอไป ดังนั้นคุณแม่จึงต้องพร้อมรับมือกับอารมณ์เกรี้ยวกราดและอาการโมโหอย่างรุนแรงของลูก ช่วงแรกๆ คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยวัยหัดเดินของคุณเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น โดยพูดคำว่า “หนู” หรือชื่อของตัวเองบ่อยมาก แต่คุณแม่ต้องอดทนเพราะลูกเรียนรู้ที่จะเริ่มทำความเข้าใจถึงนิยามของคำว่าแบ่งปัน ดังนั้นการแย่งของเล่นแล้วตะโกนว่า “ของหนู” นั้น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา และคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปหากลูกน้อยวัยหัดเดินของคุณชอบที่จะอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เช่นกัน
การพูด
อีกไม่นานคุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการด้านทักษาะการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นของลูกน้อยวัยหัดเดิน โดยคำต่างๆ ที่เขาพูดจะค่อยๆ พัฒนาเป็นวลีและเป็นการร้องขอ และคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไปหากลูกน้อยยังไม่ค่อยใช้คำหลายๆ คำ เพราะในช่วงวัยนี้ลูกจะ “เข้าใจ” มากกว่าที่จะสามารถ “พูด” ได้ และแทนที่จะใช้ประโยคที่สมบูรณ์ ลูกน้อยจะเริ่มจากการใช้คำคำเดียวเพื่ออธิบายในสิ่งที่ลูกต้องการ เช่น ‘ถ้วย’ แทนคำว่า ‘หนูอยากได้ถ้วย’ และ ‘หมี’ แทน ‘ขอตุ๊กตาหมีให้หนูหน่อย’ แล้วในที่สุดลูกน้อยก็จะเริ่มผสมคำสองคำเข้าด้วยกัน อย่างเช่น ‘เล่นหนู’ เมื่อลูกต้องการให้คุณเล่นกับลูก และลูกจะเริ่มฟังอย่างตั้งใจมากในสิ่งที่คุณกำลังพูด ซึ่งในช่วงวัยนี้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ลูกน้อยวัยหัดเดินของคุณ เริ่มต้องการฟังเพลงกล่อมเด็กและเพลงต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นความคิดที่ดีที่คุณแม่จะรื้อฟื้นความทรงจำและนึกถึงเพลงโปรดเมื่อสมัยวัยเด็กของคุณเอง
การเรียนรู้
การรับรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และความต้องการในการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองที่มากขึ้นนั้น แสดงให้เห็นว่าลูกน้อยวัยหัดเดินของคุณ อาจต้องการมีอำนาจในการควบคุมบ้างเป็นครั้งคราว
คุณแม่สามารถสนับสนุนลูกโดยปล่อยให้ลูกน้อยตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น อาจให้ลูกเลือกเสื้อผ้าใส่เองหรือเลือกเกมที่จะเล่นและคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกน้อยวัยหัดเดินได้ใช้ทักษะใหม่ ๆ ในการเคลื่อนไหวในการฝึกเดินแบบต่างๆ เช่น เดินไปทางด้านข้าง เดินถอยหลัง เดินหน้า รวมถึงวิ่งและกระโดดด้วย
นอกจากนี้คุณแม่ต้องระวังการแสดงออกทางหน้าตาและภาษาที่แปลกหู เพราะส่วนใหญ่แล้วลูกน้อยวัยหัดเดินเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบคุณนั่นเอง และบางครั้งคุณแม่อาจจะต้องประหลาดใจกับสิ่งที่ลูกน้อยจดจำและนำกลับมาใช้ในสถานที่และเวลาที่คุณคาดไม่ถึง
ที่มา : http://www.hiqkidsclub.com/