สวัสดีเพื่อนๆ ชาวไอทีเมามันส์ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งกับเรื่องราวที่น่าสนใจด้านการท่องเที่ยว สำหรับวันนี้เราจะมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักเมือง สิกขิม ประตูสู่ Himalaya ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองออร์แกนิกแห่งแรกของโลก สิกขิม ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียติดกับภูฏานทิเบตและเนปาล ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันในแถบเทือกเขาหิมาลัย มีเขตแดนทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง มีระบบนิเวศที่เปราะบางและมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 10% (75,000 เฮกตาร์) การใช้ชีวิตของชาวสิกขิมจึงไม่ง่ายนัก
แต่เพราะสิกขิมมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ในปี 2546 มุขมนตรีแห่งรัฐ ปาวัน ชัมลิง ประกาศวิสัยทัศน์ของสิกขิมให้เป็นรัฐเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของอินเดีย ในปี 2553 รัฐสิกขิมได้เปิดตัว “ภารกิจอินทรีย์” (Organic Mission) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการที่เปลี่ยนทุกอย่างในรัฐให้เป็นออร์แกนิกทั้งหมด
ในที่สุดในปี 2558 สิกขิมก็กลายเป็นรัฐออร์แกนิกแห่งแรกของโลก ตั้งเป้าหมายที่จะรักษาสภาพแวดล้อม, ระบบนิเวศที่เปราะบาง และความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญที่สุดคือให้ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นแก่ประชาชน
เส้นทางการเป็นกระบวนการรัฐออร์แกนิกของสิกขิมเริ่มต้นขึ้นในปี 2546 โดยยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และค่อยๆ ทะยอยเลิกเป็นระยะๆ พร้อมกับที่หลุมปุ๋ยหมักถูกขุดไปทั่วรัฐเพื่อแทนที่สารเคมี
ส่วนเกษตรกรก็ได้รับการฝึกฝนทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ ผลักดันหลักสูตรเกษตรอินทรีย์รวมอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน มีการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้หลายแห่ง รวมถึงโรงเรียนสอนการทำมาหากิน ศูนย์ความเป็นเลิศ 2 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมเกษตรอินทรีย์ 3 แห่งช่วยเยาวชนที่ว่างงาน
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สิกขิมเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในอินเดียที่คนหนุ่มสาวตัดสินใจปักหลักในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาไม่อพยพไปไหน
ทางรัฐฝึกอบรมแล้วไม่ทิ้งกลางทางแต่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงเต็มที่ เช่น รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรในการทดสอบดิน 40,000 ครั้งต่อปี จะมีการประเมินผลลัพธ์เพื่อวิเคราะห์สารอาหาร, สถานะของดิน และคำแนะนำเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต
ในปี 2559 ได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น สถาบันให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ไม่เพียงแต่สำหรับสิกขิม แต่ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียทั้งหมด
ทุกวันนี้พื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 76,000 เฮกตาร์ในสิกขิมได้รับการรับรองด้านเกษตรอินทรีย์และห้ามนำเข้าและใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด
นโยบายนี้ยังพยายามสร้าง ‘แบรนด์ออร์แกนิกสิกขิม’ (Sikkim organic brand) เพื่อบุกตลาดระดับชาติและนานาชาติ โดยชูเอกลักษณ์ของสภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรมการเพาะปลูกที่ไม่เหมือนใครเป็นกลยุทธ์การเจาะตลาด
ภาคการท่องเที่ยวของสิกขิมได้รับประโยชน์ไปด้วยโดยระหว่างปี 2555-2559 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเพิ่มขึ้น 40% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ไม่ใช่แค่ประชาชนชาวสิกขิมจะมีอาหารที่ไม่ก่อโรค อากาศที่ปลอดภัย และดินที่ไร้พิษเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กล่าวว่าพบการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์ป่าและผึ้ง โดยเฉพาะผึ้งซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศที่นั่นสมบูรณ์แค่ไหน
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลกับหายไปของผึ้งเพราะมลพิษและภาวะโลกร้อนซึ่งจะนำไปสู่หายนะด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิกขิมกลับมีข่าวดีเพราะผึ้งกลับมาอีกครั้ง การวิจัยโดยมหาวิทยาลัยสิกขิม พบว่ามีผีเสื้อจำนวนมากในพื้นที่เพาะปลูกซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกษตรอินทรีย์และสัตว์ป่าสามารถเป็นประโยชน์ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความสำเร็จในช่วงต้นของการทดลองวิถีอินทรีย์ในสิกขิมเท่านั้น หากสานต่อในระยะยาวต้องมีข่าวดีแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ อย่างแน่นอน