พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กสท.มีมติเห็นชอบผลจากการเสนอรับฟังความเห็นร่างประกาศ กสทช.ทั้ง 3 ร่าง ประกอบด้วยเรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการ สำหรับให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กสท.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการรวบรวมความเห็นเพื่อปรับแก้ร่างประกาศทั้ง 3 ร่างอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการลงมติเห็นชอบของบอร์ด กสท.ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ และจากนั้นจะเสนอต่อบอร์ด กสทช. ก่อนนำไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป สำหรับหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ประกอบด้วย 1. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกีฬาซีเกมส์ 2. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์ 3. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือเอเชียนเกมส์ 4. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชียนพาราเกมส์ 5. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 6. การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิก 7. การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย “เหตุที่เลือกทั้ง 7 ชนิดรายการกีฬาดังกล่าว เนื่องจากเป็นรายการที่คนไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ซึ่งในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ในการเพิ่มจำนวนชนิดกีฬาตามกระแสความนิยมต่อไป ซึ่งต่างจากฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือฟุตบอลยูโร เนื่องจากเล็งเห็นว่าคนไทยไม่มีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยได้ จึงไม่ได้เป็นการบังคับ แต่หากเจ้าของลิขสิทธิ์นำฟุตบอลยูโรมาฉายทางช่องฟรีทีวี ก็ต้องห้ามจอดำตามกฎมัสต์ แคร์รี รูล” ขณะที่กรณีของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ที่ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 ของรายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือฟรีทีวีในทุกรูปแบบการออกอากาศ ออกมาแย้งในการออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทบสิทธิส่วนบุคคลในการนำรายการดังกล่าวไปถ่ายทอด พ.อ.นที กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวเห็นว่าอาร์เอสยังมีเวลาอีก 2 ปีในการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเพื่อให้เข้ากับประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป อีกทั้งในปี 2014 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นทีวีดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจะส่งผลให้อาร์เอสมีช่องทางในการเจรจาเพื่อนำลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไปออกอากาศได้หลายช่องบริการอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในตอนที่เกิดปัญหาจอดำกรณีฟุตบอลยูโรนั้น อาร์เอสเองเป็นคนเสนอว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจะออกฟรีทีวี และจะไม่มีจอดำแน่นอน แต่หากอาร์เอส อ้างว่าประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาแล้ว อาร์เอสก็สามารถเข้ามาหารือพูดคุยกับ กสท.ได้ตลอดเวลาเพื่อหาทางออกร่วมกัน [code] ที่มา : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000135477 [/code]