คอไซไฟอวกาศมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรามีข่าวสำคัญจะแจ้งว่า ล่าสุดนักดาราศาสตร์กำลังให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อมูลใหม่ๆ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) เพื่อช่วยค้นหากาแล็กซีที่ห่างไกลมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ยังคงศึกษาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดาวพฤหัสบดี รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ที่หันเครื่องมือกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้ไปยังดาวพฤหัสบดีเป็นเวลา 11 นาที พร้อมกับใช้ตัวกรองเอฟ212เอ็น (F212N) สำหรับสังเกตแสงในช่วงความยาวคลื่น 12 ไมครอน เพื่อศึกษาโมเลกุลของไฮโดรเจน
- กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์สามารถจับภาพพายุมวลมหาศาลของดาวพฤหัสบดี, จุดแดงใหญ่ที่มีชื่อเสียง ตลอดจนแถบในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นการอาศัยเครื่องมือกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้ (NIRCam) ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการกำหนดลักษณะโครงสร้างความร้อนและชั้นต่าง ๆ ของดาวเคราะห์ ตลอดจนศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ
- โดยตามกำหนดการของสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศในรัฐแมริแลนด์ (Space Telescope Science Institute in Maryland) อันเป็นหน่วยงานที่ทำการควบคุมกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยว่าในสัปดาห์หน้า เป้าหมายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ได้แก่ ดวงจันทร์ภูเขาไฟไอโอ (Io) ของดาวพฤหัสบดี, ดาวเคราะห์น้อยไฮเจีย (Hygeia) และซากซูเปอร์โนวาแคสซิโอเปีย เอ (Cassiopeia A)
- อย่างไรก็ตาม ตารางการสังเกตการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ นอกจากนี้ ข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในทันที เนื่องจากต้องผ่านการวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ด้วยโปรแกรมทางดาราศาสตร์ก่อน แต่ในส่วนของนักวิทยาศาสตร์ที่ขอการเข้าถึงข้อมูล จะได้รับการเข้าถึงเป็นพิเศษเป็นระยะเวลาหนึ่งปี เพื่ออำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจล่าสุดในแวดวงฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอไซไฟทุกคน และหากมีข่าวคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ๆ ด้านดาราศาสตร์จากกล้องเจมส์ เวบบ์อีก เราจะรีบอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที