สวัสดีเพื่อนๆ สายวิทย์ทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวสำคัญจะแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลค้นพบ ‘หลุมดำ’ พเนจรในกาแล็กซีทางช้างเผือกหลายหลุมแล้ว ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลตรวจพบ ‘หลุมดำ’ ที่ล่องลอยอย่างโดดเดี่ยวบนกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราได้เป็นครั้งแรก
- โดยทีมนักวิจัยที่ทำการสำรวจเทหวัตถุดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ทีมด้วยกัน โดยทีมแรกซึ่งนำโดย ไคแลช ซาฮุ (Kailash Sahu) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศในบัลติมอร์ ประเมินว่าหลุมดำดังกล่าวอาจมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 7 เท่า
- ขณะที่ทีมของ แคซี แลม (Casey Lam) นักศึกษาปริญญาเอก และ เจสซิกา ลู (Jessica Lu) รองศาสตราจารย์ภาควิชาดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเมินว่าเทหวัตถุนี้อาจเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอน โดยมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 6-4.4 เท่า
- ทีมของซาฮุประเมินว่า หลุมดำนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 160,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งรวดเร็วกว่าดวงดาวเกือบทั้งหมดในกาแล็กซีของเรา ส่วนทีมของแลมและลูประเมินว่า เทหวัตถุนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วราว 108,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- หลุมดำที่ค้นพบล่าสุดนี้อยู่ห่างออกไปจากโลกราว 5,000 ปีแสง ล่องลอยอยู่ในแขนกังหันของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีชื่อว่า Carina-Sagittarius อย่างไรก็ตาม การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ทีมวิจัยสามารถนำสถิติมาประเมินได้ว่า หลุมดำโดดเดี่ยวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดอาจอยู่ห่างออกไปเพียง 80 ปีแสงเท่านั้น
- ทั้งนี้ หลุมดำเป็นเทหวัตถุที่เกิดจากการแตกดับของดวงดาว โดยเมื่อดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาลสิ้นอายุขัยลงก็จะเกิดการระเบิดครั้งรุนแรง หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวา ท้ายที่สุดก็จะเหลือทิ้งไว้แต่เพียงซากที่สิ้นสลาย นั่นก็คือหลุมดำที่มืดมิด
- บางครั้ง การระเบิดก็อาจทำให้หลุมดำเคลื่อนที่พุ่งตัวไปทั่วกาแล็กซีเหมือนกับลูกพินบอล โดยนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีหลุมดำที่ล่องลอยอย่างอิสระในจักรวาลกว่า 100 ล้านแห่ง ซึ่งตามหลักการนั้น นักวิทยาศาสตร์ควรจะต้องค้นพบหลุมดำจำนวนมากที่พเนจรอยู่ในเอกภพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกมันมีลักษณะคล้ายกับเทหวัตถุที่ล่องหนได้ เพราะหลุมดำดูดกลืนแม้กระทั่งแสงจนแทบจะไม่สามารถมองเห็นได้เลย ฉะนั้น การค้นพบหลุมดำจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง โดยโอกาสที่จะตรวจจับหลุมดำได้นั้นก็ต่อเมื่อมองเห็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่หลุมดำทำปฏิกิริยาด้วย
ทั้งนี้ เราคงต้องรอดูข้อมูลจากการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลเพิ่มเติม เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับเทหวัตถุลึกลับนี้ โดยนักดาราศาสตร์ยังคงเดินหน้าปฏิบัติค้นหา ‘วัตถุล่องหน’ ต่อไป เพื่อทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการและการแตกดับของดวงดาว