กล้องพกพาขนาดเล็กรวมถึงไฮเอนด์คอมแพกต์เคยได้รับความนิยมสูงมากเพราะพกพาสะดวกสบาย มีขนาดเล็ก พร้อมแนวคิดเรียบง่ายแต่ตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกกลุ่มคือ “เพื่อใช้เก็บบันทึกความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดายและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ในราคาไม่สูงเกินไป แถมใช้ได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กไปถึงผู้สูงอายุ” แต่แนวคิดเรียบง่ายก็ไม่อาจต่อสู้กับกระแสเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะตั้งแต่ตลาดสมาร์ทโฟนถือกำเนิดขึ้นได้ส่งผลกระทบไปถึงตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ด้วย เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป ตลาดดิจิตอลคอมแพกต์ปรับตัวไม่ทันเพราะผู้ผลิตกล้องไม่เคยคาดคิดว่าตลาดสมาร์ทโฟนที่เป็นคนละตลาดจะพัฒนาตัวเองได้รวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนที่มีแนวคิดเดียวกันกับกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ แถมพกพาสะดวกกว่า และที่สำคัญคือสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ และโซเชียลมีเดียได้ตามต้องการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลาดดิจิตอลคอมแพกต์จะถูกผลกระทบโดยตรงจากตลาดสมาร์ทโฟน จนในที่สุดตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ก็เริ่มถอยหลังจนเกือบจะหยุดนิ่ง กำเนิดใหม่ดิจิตอลคอมแพกต์ ระหว่างตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพกต์กำลังถูกทิ้ง ผู้ผลิตกล้องพยายามหนีความเจ็บปวดและอาการขาดทุนอย่างหนักด้วยการสร้างกล้องแนวใหม่อย่าง “มิร์เรอร์เลส” ขึ้น พร้อมเน้นไปในเรื่องประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคอมแพกต์เพราะใช้แนวคิดการออกแบบเดียวกับตลาดกล้องมืออาชีพ DSLR แต่ขนาดเล็กเท่าคอมแพกต์ และประคบประหงมจนตลาดนี้เกิดขึ้นมายืนคั่นตรงกลางระหว่างตลาดกล้องคอมแพกต์กับ DSLR แน่นอนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้การตอบรับอย่างดี ดังจะเห็นได้จากช่วงหนึ่งที่ตลาดมิร์เรอร์เลสขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนทำให้ผู้ ผลิตกล้องลืมความเจ็บปวดกับตลาดกล้องคอมแพกต์ไปได้บ้าง แต่ผ่านช่วงเวลานั้นมาประมาณ 1-2 ปีตลาดมิร์เรอร์เลสกลับแผ่วปลายลงเพราะความไม่ชัดเจนในตัวเองเนื่องจากเป็นกล้องกึ่งคอมแพกต์และ DSLR แถมด้วยแนวคิดที่ต้องเปลี่ยนเลนส์ได้ ทำให้การใช้งานและการออกแบบสไตล์บอดี้เล็กตัวเลนส์ใหญ่ยังดูขาดๆ เกินๆ ยิ่งผนวกราคาที่พุ่งสูงเกิน 2 หมื่นบาทปลายๆ ทำให้หลายคนเริ่มถวิลหาเสน่ห์ของคอมแพกต์สไตล์ Point and Shoot ใช้ง่าย ประเภทเลนส์ใช้งานครอบจักรวาล ที่หายไปในขณะช่างภาพมืออาชีพยังยึดติดกับ DSLR ที่โดดเด่นเรื่องการควบคุมและรองรับเลนส์ถ่ายภาพที่มากอยู่ จนในที่สุดเมื่อตลาดยูสเซอร์ขนาดใหญ่ที่หวังจะโกยเงินได้มหาศาลไม่เป็นดังหวัง ช่วงปลายปีที่ผ่านมาบรรดาผู้ผลิตกล้องดิจิตอลนำทีมโดย Sony Sigma Olympus Canon Nikon และอีกหลายแบรนด์ได้คิดทำการปลุกชีพกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเลือกกลุ่มไฮเอนด์คอมแพกต์มาพัฒนาเนื่องจากตลาดสามารถต่อยอดด้าน เทคโนโลยีได้มากกว่าคอมแพกต์ปกติ ด้วยแนวคิดใหม่คือ “ดิจิตอลคอมแพกต์ยุคใหม่ต้องใช้งานได้ครอบจักรวาลและคุ้มค่ามากขึ้นเพื่อลบช่องว่างที่มิร์เรอร์เลสให้ไม่ได้” การกู้ชีพดิจิตอลคอมแพกต์ การกู้ชีพเริ่มต้นขึ้นด้วยการสร้างจุดที่น่าสนใจให้กับไฮเอนด์ดิจิตอลคอมแพกต์ขึ้นมาใหม่ แทนการนำเทคโนโลยีจากกล้อง DSLR มาใส่เหมือนยุคเก่า อย่างเช่น แคนนอนได้นำชิปใหม่ล่าสุด DiGiC 6 มาเปิดตัวคู่กับ PowerShot G16 เป็นครั้งแรกก่อนจะนำไปใช้บน DSLR ตระกูล EOS ซึ่งในชิปใหม่นี้ให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลภาพที่เหนือกว่าเดิมทั้งสัญญาณรบกวนที่ต่ำแม้จะใช้ค่าความไวแสง ISO 12800 เพื่อลบข้อจำกัดของเซ็นเซอร์รับภาพขนาดเล็ก รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนหัวใจหลักก็คือ ชิ้นเลนส์ที่ต้องการให้กล้องรับแสงได้มากขึ้น ความผิดเพี้ยนของภาพน้อยลง ความคมชัดสูงขึ้น เช่น Sony CyberShot RX100II เลือกใช้เลนส์ Carl Zeiss พร้อมรูรับแสงกว้าง f 1.8 Olympus Stylus 1 ที่ใช้เลนส์ซูม 28-300 มิลลิเมตรที่ค่ารูรับแสงกว้าง 2.8 ตลอดช่วง หรือแม้แต่ Canon PowerShot G16 เลือกใช้เลนส์ซูม 5 เท่าที่รูรับแสงกว้าง f 1.8-f 2.8 ตลอดช่วงเช่นกัน เพื่อช่วยให้การถ่ายภาพกลางคืนทำได้ดีขึ้นไปถึงการทลายข้อจำกัดในเรื่องถ่ายภาพบุคคล หน้าชัดหลังเบลอที่แต่เดิมทำได้ยากมาก แต่ด้วยแนวความคิดใหม่ ที่ยังคงรูปลักษณ์ น้ำหนักกล้องเบาแบบเดิมทำให้กล้องดิจิตอลคอมแพกต์สามารถใช้งานได้ครอบคลุม และประสิทธิภาพสูงขึ้น มิหนำซ้ำเพื่อเป็นการสกัดดาวรุ่งตลาดสมาร์ทโฟนและทำให้ตลาดกล้องคอมแพกต์ได้รับความสนใจจากวัยรุ่นมากขึ้น บรรดาแบรนด์ผู้ผลิตต่างอัดเทคโนโลยี Wi-Fi เข้าไปในกล้องดิจิตอลคอมแพกต์แทบทุกแบรนด์ โดยพื้นฐานการใช้งาน Wi-Fi หลักๆ ก็คือสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อดึงรูปภาพจากกล้องผ่าน Wi-Fi Direct มาสู่สมาร์ทโฟนได้โดยตรง รวมถึงการมาของกล้องดิจิตอลคอมแพกต์สุดแหวกแนวอย่าง Sony CyberShot QX10/QX100 พร้อม NFC ที่ใช้ผสมร่างรวมกับสมาร์ทโฟนเวลาใช้งาน ซึ่งถือเป็นวิธีการนำตลาดดิจิตอลคอมแพกต์บุกตีตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างแนบเนียนและได้รับความสนใจมากสุด รวมทั้งแผนขยายตลาดดิจิตอลคอมแพกต์และไฮเอนด์ดิจิตอลคอมแพกต์ให้ครอบคลุมถึงตลาดระดับมืออาชีพเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่และเพิ่มมูลค่าตลาดให้สูงขึ้น ดังจะเห็นได้จาก Sony CyberShot RX1R กับเซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม 35 มิลลิเมตร หรือแม้แต่กล้องดิจิตอลคอมแพกต์เซ็นเซอร์ APS-C ที่เท่ากล้อง DSLR ระดับกลางหลากหลายแบรนด์ที่มีจุดขายหลักอยู่ที่การเป็นกล้องประสิทธิภาพสูง ที่เกิดในร่างคอมแพกต์พกพาสะดวกและราคาอยู่ในระดับพรีเมียม ที่ถึงแม้ในความเป็นจริงยอดขายจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน และหลายแบรนด์รู้อยู่แก่ใจ (ดูได้จากกล้องระดับนี้จะโปรโมตตามสื่อต่างๆ น้อยมาก) แต่ในเรื่องภาพลักษณ์โดยรวมของตลาดดิจิตอลคอมแพกต์ต้องถือว่ากลับเป็นการจุดพลุเรียกคนชมและประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่ากล้องดิจิตอลคอมแพกต์ยังไม่ตาย บทสรุปครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ตลาดมิร์เรอร์เลสเติบโตช้าเกินไป ทำให้กล้องดิจิตอลคอมแพกต์ที่กำลังจะตายถูกต่อลมหายใจพัฒนาขึ้นใหม่ต่อยอดให้ตรงใจผู้บริโภค พร้อมถูกสร้างขึ้นในทิศทางที่ควรจะเป็นโดยอาศัยความคุ้มค่าและคุณภาพเป็นหลัก ซึ่งถึงแม้ราคาอาจสูงเพราะพื้นฐานมาจากไฮเอนด์คอมแพกต์ แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ไปถึงเรื่องการออกแบบที่ยังคงรูปทรงเล็กกะทัดรัดถือว่าคุ้มค่ากว่าตลาดมิร์เรอร์เลสที่เหมือนคนที่ไร้จุดยืน ลองคิดดูกล้องคอมแพกต์ยุคใหม่สามารถถ่ายภาพบุคคลหน้าชัดหลังเบลอ ภาพระยะใกล้ 1 เซนติเมตร วิวทิวทัศน์ โหมดอัตโนมัติ 50 รูปแบบ ถ่ายหมู่ดาวยามค่ำคืน เก็บภาพคนเล่นกีฬาอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูงได้เพียงปุ่มกดปุ่มเดียว คิดว่าแค่นี้เพียงพอหรือยังกับการกลับมาของดิจิตอลคอมแพกต์ในบทบาทกล้องใช้งานได้ครอบจักรวาลที่ควรมีติดบ้านไว้ ref : CyberBiz pr : ไอทีเมามันส์