“นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไวไฟ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ฟรีไวไฟ) ของงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที โดยใช้เงินสนับสนุนกองทุนวิจัย และพัฒนาฯ จำนวน 950 ล้านบาท จากเดิมที่กระทรวงไอซีทีขอมา 980 ล้านบาท เนื่องจาก 30 ล้านบาทนั้นเป็นงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งทางกสทช.เห็นว่า ส่วนนี้เป็นงบที่ทางกระทรวงไอซีทีควรดำเนินการเอง หวังคนไทยเข้าถึงเน็ตเพิ่ม ที่ประชุมยังเห็นด้วยว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของกสทช.ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อเป็นการบริการสังคมให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย ตลอดจนเพิ่มความสะดวกสบายผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศได้ด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองนโยบายคณะรัฐมนตรีและกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ พ.ศ.2555-2563 (ICT 2020) ในการเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตามกรอบนโยบายสมาร์ท ไทยแลนด์ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและข้อมูลทางด้านดิจิทัล (Digital Divide) โดยจะครอบคลุมสถานีตำรวจทั้งหมด ศาลากลาง โรงพยาบาล สถานีอนามัย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกองทุนฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ โดยทีโอทีและกสท.ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการติดตั้ง ต้องได้รับอนุมัติงบประมาณส่วนที่เหลือมูลค่า 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 4,000 ล้านบาทด้วย ขณะที่การสนับสนุนจะแบ่งออกเป็น 2 งวด ได้แก่ ปีงบประมาณ2555 จำนวน 50 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2556 จำนวน 900 ล้านบาท สำหรับโครงการฟรีไวไฟ จะให้บริการประมาณ 30,000 แห่งโดยจัดให้มีการดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์แอคเซส พ้อยต์จำนวน 150,000 จุดทั่วประเทศ กำหนดให้ติดตั้ง 5 แอคเซส พ้อยต์ต่อแห่ง มีความเร็วในการให้บริการ 2 เมกะบิตต่อวินาที และมีผู้ใช้งานไม่เกิน 15 คนต่อ แอคเซส พ้อยต์ ใช้งานได้ครั้งละ 20 นาที ติดต่อได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาจัดหา และติดตั้งอุปกรณ์ราว 7 เดือน และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการบางส่วนได้ไตรมาส 4 นี้ และติดตั้งครบทั้ง 150,000 จุด ในไตรมาส 1 ของปี 2556 นายฐากร กล่าวด้วยว่า สำหรับกองทุนวิจัย และพัฒนานั้น ขณะนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการในการอนุมัติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทที่ กสทช. กำหนดหัวข้อวิจัย โดยไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล สมาคม หรือสถาบัน สามารถแจ้งความจำนงค์ในการทำวิจัยนั้นๆ 2.ประเภทโครงการที่หน่วยงานยื่นเสนอหัวข้อวิจัยให้ กสทช. พิจารณา และ 3. ประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กองทุนพัฒนาสื่อกปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระจายงบให้โทรคม-บรอดแคสต์ ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว 4-5 เดือน โดยมีประธาน กสทช. เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การอนุมัติงบกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช. ในวันที่ 10 ต.ค. นี้ และเมื่อลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด ทุกคนทุกสถาบันก็กจะสามารถยื่นขอการรับสนับสนุนการกองทุนดังกล่าวได้ สำหรับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 2,924 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณที่ได้รับโอนจากกองทุนเดิมของ กทช. ซึ่งจะนำไปใช้ได้เฉพาะในกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนดมูลค่า 1,700 ล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติโครงการฟรีไวไฟแล้ว 950 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินกองทุนอีกราว 350 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกิจการโทรคมและบรอดแคสต์ ขณะเดียวกัน กสทช.จะเริ่มออกตรวจคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่วานนี้ (2 ต.ค.) เนื่องจากพบว่า โอเปอเรเตอร์มือถือมุ่งพัฒนาคลื่น 3จี จนละเลยการพัฒนาคลื่น 2จี ไปด้วยทำให้ผู้ใช้บริการประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะจุดอับสัญญาณบริเวณต่างๆ เช่น มอเตอร์เวย์ไปสุวรรณภูมิ ใต้ทางด่วนพระรามเก้า เป็นต้น