“ค้าปลีกฟีเวอร์” ทำเอาหุ้นในธุรกิจค้าปลีกปรับตัว “พุ่งขึ้น” เป็นทิวแถว ไล่เลียงจากการซื้อกิจการของไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 2 ของโลกอย่างคาร์ฟูร์ ในไทย เมื่อปีที่ผ่านมา สุดท้าย 44 สาขาของคาร์ฟูร์ในไทยตกเป็นของกลุ่มบริษัทคาสิโน กรุ๊ป ฝรั่งเศส (บริษัทแม่ของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ขณะที่มีกลุ่มทุนหลายค่ายเสนอตัวเข้าแข่งขัน ตามมาด้วยการซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” (บริษัทสยามแฟมิลี่ มาร์ท) ในไทย ที่ขับเคี่ยวโดย 2 กลุ่มทุนอย่างเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ และเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อยู่ในขณะนี้ ผู้บริหารเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ยังประกาศชัดถึงแผนไล่ซื้อกิจการค้าปลีกในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ขณะที่ในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ล่าสุดบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ส่งบริษัทลูก (เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น) ซื้อหุ้นในบริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ล่าสุดของล่าสุด คือ การเปิดตัว วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน อาณาจักรธุรกิจแฟชั่นบนถนนประตูน้ำมูลค่า 5,500 ล้านบาท ของตระกูลพร้อมพัฒน์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการ “ปักธงช่องทางการจัดจำหน่าย” ก่อนที่ “สงครามค้าปลีก” จะระเบิดขึ้นหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 แม้แต่ บริษัทพลังงานแห่งชาติ อย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อีก “กลุ่มทุน” เงินหนา ที่ต้องการเพิ่มพอร์ตธุรกิจค้าปลีกให้เข้มแข็ง จากมาร์จินน้ำมันที่ต่ำเตี้ย !! แม้การดำเนินธุรกิจค้าปลีกจะดูผิดฝาผิดตัวกับธุรกิจหลัก จนต้องถอยตัวออกจากการประมูลซื้อคาร์ฟูร์ ไปเมื่อปี 2554 ทว่า ปตท.ก็ยังไม่หมดความพยายามที่จะรุกธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) ไม่ใช่แค่พยายามธรรมดา ต้องใช้คำว่า “พยายามอย่างยิ่ง” ไม่งั้นไม่ตั้งเป้าหมายไว้เลิศหรูที่จะดันกำไรของธุรกิจนอนออยล์ขึ้นจาก 18% เป็น 50% ของรายได้รวมจากธุรกิจน้ำมัน ให้ได้ใน 3 ปีจากนี้ (ในปี 2557-2558) ก่อนหน้าประมูลซื้อคาร์ฟูร์ ปตท.เปิดตัวเองสู่ธุรกิจค้าปลีกเต็มตัว ด้วยเกมซื้อ 146 สถานีบริการน้ำมันเจ็ท (เมื่อปี 2550) วงเงินสูงถึง 275 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,600 ล้านบาท) โดยมี ร้านสะดวกซื้อภาพลักษณ์ดีอย่าง “จิฟฟี่” เป็นเป้าหมาย ทว่า 5 ปีผ่านมาไป สะท้อนว่า แม้ ปตท.จะมีของดีอยู่ในมือ แต่ก็เหมือนจะเข้าตำรา “ไก่ได้พลอย” จากความไม่ชำนาญ เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก แม้จะปรับโฉมจิฟฟี่ ใหม่ ในโมเดล จิฟฟี่ มาร์เก็ต รุกธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต และ จิฟฟี่ บิสโตร ร้านอาหารจานร้อน บนแนวคิดร้านสแตนอะโลน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ซัคเซค ไม่นับการเปิดร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก แบรนด์ “จอย” ในปั๊มก๊าซ เรียกว่า ปตท.พลิกเกมแล้วพลิกเกมอีก เพื่อหา “โมเดลธุรกิจค้าปลีก” ที่เหมาะสมกับตัวเอง จนมาลงเอย ที่การรุกสู่ธุรกิจ “คอมมูนิตี้มอลล์” ในปั๊มน้ำมัน ปตท. ในชื่อ “The Crystal PTT” (ในปั๊มเจ็ทเดิมที่ถูกปรับโฉมเป็น ปตท.หมดแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลดี พื้นที่กว้างขวาง ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์) รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยนำร่องบนถนนชัยพฤกษ์ บนพื้นที่ 9,000 ตร.ม. วงเงินลงทุน 600 ล้านบาท ด้วยการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) บริษัทลูก ปตท. กับบริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด เจ้าของโครงการคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) โดยคาดว่าคอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้ จะเปิดให้บริการใน ต.ค. 2556 พร้อมกันนี้ ยังชู 3 โมเดลรุกธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ ร้านจิฟฟี่ จิฟฟี่เดลี่ และจิฟฟี่ซูเปอร์มาร์เก็ต มองไกลไปถึงการนำธุรกิจค้าปลีก ปตท.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยโครงการลงทุนคอมมูนิตี้มอลล์ อยู่ในแผนการลงทุนธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ระยะ 3 ปี (2555-2557) ของ ปตท.ที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 5,000 ล้านบาท สะท้อนว่า ที่สุดแล้ว ปตท.เลือกที่จะจับมือกับ “พันธมิตร” โหนกระแสคอมมูนิตี้มอลล์ เพราะทำเองพิสูจน์แล้วว่า “ไม่รุ่ง” !!