กาแฟยักษ์ใหญ่ “สตาร์บัคส์” ประกาศซื้อเชนร้านชา “ทีวานา โฮลดิ้งส์” ส่งสัญญาณรุกหนักสู่ตลาดชา อีกหนึ่งจังหวะก้าวสู่ความสำเร็จนอกเส้นทางกาแฟ ปัจจุบัน ทีวานามีสาขา 300 แห่งกระจายในห้างสรรพสินค้า ทั้งในสหรัฐ เม็กซิโก แคนาดา และคูเวต เน้นขายใบชารวมถึงอุปกรณ์ชงชาทั้งหลาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 500 สาขาภายในปี 2558 โดยข้อตกลงซื้อเชนร้านชาครั้งนี้มีมูลค่า 620 ล้านดอลลาร์ คาดกันว่าข้อตกลงน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนี่สะท้อนว่าสตาร์บัคส์ตั้งใจจะเดินซ้ำรอยความสำเร็จในตลาดชา เหมือนเมื่อครั้งบุกเบิกเส้นทางสายกาแฟ นอกเหนือจากเปิดร้านทีวานาแบบเดี่ยวๆ ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ สตาร์บัคส์ยังมีแผนจะเพิ่มบาร์สำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่มชาที่ต้องเตรียมการก่อนดื่มในร้านทีวานาแต่ละสาขา คล้ายกับในอดีตที่สตาร์บัคส์เปิดบาร์เอสเปรสโซในร้านเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2530 จากเดิมที่มีร้านขายเมล็ดกาแฟเพียงอย่างเดียว 11 แห่งในขณะนั้น น่าสนใจว่า ข้อตกลงล่าสุดไม่ใช่การรุกคืบสู่ตลาดชาครั้งแรก เพราะสตาร์บัคส์เคยขยับสู่ตลาดชาโลกที่มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ผ่านการซื้อแบรนด์ “ทาโซ” เมื่อปี 2542 ในวงเงิน 8.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันทาโซทำยอดขายได้ปีละกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งชาที่เป็นแพ็คและเครื่องดื่มบรรจุขวด ซึ่งวางขายในร้านของตัวเองและร้านขายของชำอื่นๆ “โฮเวิร์ด ชูลต์ส” ซีอีโอของสตาร์บัคส์ บอกว่า บริษัทจะทำสิ่งต่างๆ ในตลาดชาเหมือนอย่างที่เคยทำในตลาดกาแฟมาแล้ว เขาเปรียบตลาดชาว่าเป็นโอกาสตลอดชีวิต ขณะที่แบรนด์ชาทั้ง 2 ที่มีในมือ สตาร์บัคส์จะผนวกใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจะพัฒนาสินค้าแบรนด์ทีวานาแบบซูเปอร์พรีเมี่ยม สำหรับวางขายในร้านค้าปลีก ซึ่งการครอบครองกิจการครั้งนี้จะเสริมความได้เปรียบให้กับโครงสร้างพื้นฐานและทักษะที่สตาร์บัคส์มีอยู่ “ชารอน แซคเฟีย” นักวิเคราะห์จากวิลเลียม แบลร์ แอนด์ โค มองว่า นี่อาจเป็นข้อตกลงครอบครองกิจการที่ชาญฉลาดมากสุดครั้งหนึ่งของสตาร์บัคส์เท่าที่เคยมีมา ถือเป็นราคาที่ดีสำหรับแบรนด์ค้าปลีกที่เติบโตรวดเร็ว เพราะมีสถานะที่ดีในแง่เศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ของสาขาต่างๆ ในสหรัฐ ซึ่งหาได้ยากในร้านค้าปลีกที่ก่อตั้งระยะแรกๆ ด้าน “อาร์เจ ฮอตโตวี” นักวิเคราะห์จากมอร์นิ่งสตาร์ ให้ความเห็นว่า ทีวานามีความเหมาะสมโดยธรรมชาติสำหรับแบรนด์ธุรกิจในพอร์ตของสตาร์บัคส์ ข้อตกลงครั้งนี้ นับเป็นการขยับเพื่อครอบครองกิจการครั้งที่ 3 ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากซื้อธุรกิจน้ำผลไม้ “อีโวลูชั่น เฟรช อิงค์” ในราคา 30 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2554 และช้อปธุรกิจเบเกอรี่ “ลา บูล็อง เบเกอรี่” มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ดีลเหล่านี้ตอกย้ำว่าสตาร์บัคส์พยายามมองหาลู่ทางการเติบโตใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจกาแฟซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท เห็นได้จากการที่บริษัทตัดเอาคำว่า “คอฟฟี่” ออกจากโลโก้ที่ใช้มาดั้งเดิม [code]ที่มา : bangkokbiznews http://bit.ly/101rV2t[/code]