“ไม่มีสิ่งใดเล็กเกินไปที่จะเรียนรู้ และไม่มีสิ่งใดใหญ่เกินไปที่จะพยายาม”
William Van Horne
เป็นคำคมที่ยอดเยี่ยม สำหรับผมแล้วถือว่าโดนมาก ๆ ใช่แล้วครับการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเราไม่ว่ามันจะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคใด ถ้าเราเปิดใจที่จะเรียนรู้ มันก็จะเป็นประโยชน์ให้กับเราอย่างอเนกอนันต์ ยิ่งถ้าได้บวกเพิ่มความพยายามเข้าไป ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้จะมาเยือนเราในที่สุด
อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ความสำเร็จนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะไขว่คว้ากันมาครอบครองง่าย ๆ ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องผ่านอะไรมากมายหลากหลาย ล้มลุกคลุกคลานกันหลายครั้ง ลองผิดลองถูกกันหลายหน สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ด้วยความพยายาม แต่ความพยายามก็ต้องอาศัย เวลา
เวลา ไม่อาจบอกได้ว่า เราจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ แต่เวลาจะเป็นตัวหลอมรวม สิ่งที่เรียนรู้ และสิ่งที่พยายามมาทั้งหมดทั้งมวล ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ให้ตกผลึก ซึ่งผมขอเรียกมันว่า ประสบการณ์
ที่เกริ่นมาเนิ่นนาน ก็เพื่อคำ ๆ นี้หล่ะครับ ประสบการณ์ งานทุกงาน อาชีพทุกอาชีพ ล้วนต้องพึ่งพาคำ ๆ นี้ ใช่แล้วครับ คนเราเมื่อทำงานก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ศึกษาข้อดี ข้อด้อย เพื่อพัฒนา งานกุนซือลูกหนัง หรือผู้จัดการทีมฟุตบอลก็เช่นกัน
โรเบิร์ต “บ๊อบ” เพสลีย์ กุนซือผู้เป็นตำนานของทีมลิเวอร์พูล เขาแขวนสตั๊ดกับทีมลิเวอร์พูลเมื่อ ค.ศ. 1954 ด้วยวัย 35 ปี ใน ค.ศ. 1959 บิลล์ แชงคลี ดึงเขาให้มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม ใน ค.ศ. 1974 เพสลีย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมสืบ ตลอด 9 ปีของการเป็นผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเพสลีย์นำทีมคว้าแชมป์ลีกดิวิชัน 1 (เดิม) 6 สมัย, ยูโรเปียนคัพ 3 สมัย, ยูฟ่าคัพ 1 สมัย, ยูโรเปียนซูเปอร์คัพ 1 สมัย, แชริตีชีลด์ 6 สมัยและ ลีกคัพ 3 สมัยโดยแชมป์รายการสุดท้ายของเพสลีย์คือลีกคัพเมื่อ ค.ศ. 1983 ก่อนจะประกาศวางมือ
เพสลี่ย์ใช้เวลา 15 ปี กว่าจะได้มาเป็นผู้จัดการทีมชุดใหญ่ และประสบความสำเร็จ
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อจากรอน แอตกินสัน เมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) และพาทีมชนะเลิศเอฟเอคัพ เมื่อปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) เป็นรายการแรก
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ใช้เวลา 4 ปี ถึงจะสามารถพาทีมคว้าเอฟเอคัพเป็นรายการแรก
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของตัวอย่าง สุดยอดผู้จัดการทีมแต่ละท่าน กว่าจะมาถึงจุดสุดยอดของอาชีพ พวกเขาจะต้องผ่านเรื่องราว รวมไปถึงอุปสรรคที่มากมาย ด้วยเหตุผมจึงขอสรุปว่า
ผู้จัดการทีมแต่ละท่าน ต้องการเวลาในการปรับปรุง แก้ไขทีมให้แข็งแกร่ง ในบางครั้งทีมอาจไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แต่ในระยาวจะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติ หรือสโมสร หากรีบร้อนที่จะปลดผู้จัดการทีม เพียงเพราะว่า ต้องการให้ทีมประสบความสำเร็จแบบว่องไว ขอบอกว่า พวกเขาคิดผิด เพราะการไล่ผู้จัดการทีมออกแต่ละครั้ง นั่นก็หมายความว่า ทีมจะต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งเช่นกัน