นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมงานในโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน อาคารกลุ่มแอล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถที่ 4 ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล ใกล้ทางออกถนนอังรีดูนังต์ เนื้อที่ 7,315 ตร.ม. เพื่อประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบอาคารสูงขนาด 34 ชั้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มูลค่าโครงการรวมกว่า 3,000 ล้านบาท ครม.สั่งให้รับข้อเสนอแนะของกระทรวงการคลังไปดำเนินการด้วย โดยเฉพาะให้ปรับปรุงหลักคิดค่าตอบแทน นอกเหนือจากค่าเช่าที่ดินของโครงการ โดยกำหนดให้มีผลตอบแทนในลักษณะส่วนแบ่งรายได้ จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ต่างๆ ในกรณีที่โครงการมีรายได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ เช่นเดียวกับโครงการเอ็มบีเค และโรงแรมโนโวเทลสยามสแควร์ รวมทั้งกำหนดให้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนการได้สิทธิ เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นหลักประกันการดำเนินการ ที่สำคัญกำหนดให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบการจราจรพร้อมจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย นายภักดีหาญส์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จึงต้องทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกเป็นอาคารส่วนฐานสูง 10 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 50,000 ตร.ม. จุฬาฯเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารงานเอง ซึ่งนำไปใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้าประเภทต่างๆ และอาคารจอดรถสำหรับพื้นที่สยามสแควร์ ใช้งบประมาณรวม 1,010 ล้านบาท ระยะที่ 2 เป็นอาคารส่วนสูงหรือทาวเวอร์ตั้งแต่ชั้นที่ 11- 34 พื้นที่ใช้สอย 30,000 ตร.ม.เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบบีทีโอคือทั้งก่อสร้างและตกแต่งเป็นโรงแรมหรืออาคารสำนักงาน โดยให้เอกชนเช่าพื้นที่อาคารแล้วนำไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้กับภาครัฐ พร้อมดำเนินการและจ่ายค่าตอบแทนการใช้ที่ดินให้กับจุฬาฯ “จากผลการศึกษาพบว่ากรณีที่ก่อสร้างเป็นโรงแรม จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,512 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี มีระยะเวลาคืนทุน 7.5 ปี หากก่อสร้างเป็นสำนักงานใช้เงินลงทุน 1,917 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุน 11.14 ปี โดยมีผลตอบแทนเป็นค่าเช่าให้กับจุฬาฯทั้ง 2 กรณี ในอัตรา 217.62 ล้านบาทเช่า 20 ปี อัตรา 304.50 ล้านบาท เช่า 25 ปี และ 410.19 ล้านบาท เช่า 30 ปี” นายภักดีหาญส์ กล่าว