อาจารย์สุวันลา ม่วงรัตน์ ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานแนะแนว โรงเรียนลำปลายมาศ บุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นไม่เคยสนใจเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่เมื่อเห็นว่า เฟซบุ๊กเป็นโลกของสังคมวัยรุ่น จึงเข้าไปลองเล่น ได้เจอทั้งเพื่อนเก่า ๆ เจอนักเรียนมากมายในเฟซ บุ๊ก จึงตัดสินใจใช้ช่องทางนี้ ให้คำปรึกษาแก่นักเรียน เพราะเด็กชอบเขียนระบายเรื่องราวต่าง ๆ มากกว่าจะเข้าไปพูดคุยกับครูเป็นการส่วนตัว นักเรียนจะมาพบครูแนะแนวที่ห้องเพื่อปรึกษาเรื่องเรียนต่อมากกว่าปัญหา ส่วนตัว วิธีการสอนของอาจารย์สุวันลา เมื่อถึงชั่วโมงแนะแนว หากเป็นนักเรียน ม.ปลาย ก็จะเปิดหน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มเพื่อน ๆ ของอาจารย์ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนก็มีหลากหลายอาชีพ สามารถยกตัวอย่างเล่าให้นักเรียนฟังได้ทันที ใช้สอนเรื่องอาชีพได้ทั้งเทอม เริ่มตั้งแต่เรื่องราวสมัยเรียน วีรกรรมของเพื่อน แล้วโยงมาถึงอาชีพปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะให้ความสนใจ ซักถามกันมาก ระหว่างสอนก็จะเปิดหน้าเฟซบุ๊กของเพื่อนคนที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างประกอบการสอน บางครั้งก็จะวิดีโอคอล ให้เห็นหน้า และให้รุ่นพี่อธิบายถึงอาชีพ นักเรียนก็จะซักถามโดยตรง ทำให้บรรยากาศการเรียนในห้องสนุก และได้ประสบการณ์ตรงจากบุคคลในอาชีพนั้น ๆ ทันที หากเป็นชั่วโมงแนะแนวของนัก เรียนชั้น ม.ต้น ซึ่งมีมากถึง 10 ห้อง ใช้วิธีแนะแนวรวมกันทั้ง 10 ห้องพร้อมกันในหอประชุมโรงเรียน แล้วเปิดไปที่หน้าเฟซบุ๊กของรุ่นพี่ที่เพิ่งจบการศึกษาชั้น ม.6 และกำลังเรียนระดับอุดมศึกษา เพื่อให้น้องได้เห็นแนวทางในการศึกษาต่อ อาจารย์สุวันลา บอกว่า เด็ก ๆ ให้ความสนใจมากทุกครั้งที่เปิดหน้าเฟซบุ๊ก ระหว่างสอนก็จะบอกนักเรียนถึงความเหมาะสม ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น การใช้ภาษาที่ถูกต้อง ใช้ภาษาสุภาพ รวมถึงการโพสต์รูปภาพที่เหมาะสม เพราะสื่อเฟซบุ๊ก เป็นสื่อสาธารณะ จึงต้องระมัดระวังหากจะโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ ที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ และไม่ควรไปโพสต์ด่าใคร หากมีนักเรียนระบายเรื่องส่วนตัว แม้เด็กบางคนจะใช้นามแฝง แต่ก็รู้ว่าเป็นใคร เมื่อไปเจอที่โรงเรียนก็จะเข้าไปพูดคุยทักทายว่า เมื่อคืนเราคุยกันนะ วิธีนี้ทำให้เด็กเปิดใจเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างสบายใจ คนที่เล่นเฟซบุ๊กมานานแล้ว อาจจะบ่นว่า เบื่อ ขี้เกียจรับรู้เรื่องราวของคนอื่น หรือบางคนอาจจะเล่นเพื่อสะสมจำนวนเพื่อนให้มากที่สุด แล้วก็เพิกเฉยไป แต่ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ใช้ช่องทางนี้อย่างมีประโยชน์ได้ทั้งสาระและบันเทิง เหมือนที่อาจารย์สุวันลาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อการเรียนการสอน. [code]ที่มา : http://www.dailynews.co.th/technology/176847 [/code]