แม้ว่าเกาหลีเป็นชาติมหาอำนาจ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากมาย แต่เพื่อนๆ อาจคงไม่ทราบว่าเกาหลีใต้ยังไม่เคยประสบความสำเร็จด้านการสร้างจรวดขนส่งอวกาศมาก่อน ข่าวดีที่น่าตื่นเต้นล่าสุดคือ เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri และดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จแล้ว รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- เมื่อไม่กี่วันก่อนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้ส่งจรวดนูรี (Nuri) พร้อมดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ โดยใช้จรวดที่ผลิตและพัฒนาขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมดเป็นครั้งแรก
-
จรวดนูรีทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวด ศูนย์อวกาศนาโร (Naro Space Center) บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้
-
ภารกิจในครั้งนี้จรวดนูรี (Nuri) บรรทุกดาวเทียมทั้งหมด 8 ดวง น้ำหนักรวมมากกว่า 1 ตัน โดยมีดาวเทียมดวงใหญ่สุดชื่อว่า NEXTSat-2 น้ำหนัก 180 กิโลกรัม ทำหน้าที่เป็นดาวเทียมสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดินในสถานีสำรวจแอนตาร์กติกา ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศลำดับที่ 7 ของโลกที่สามารถพัฒนาจรวดและดาวเทียมพร้อมส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยตัวเอง รองจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย
-
สำหรับจรวดนูรี (Nuri) หรือ KSLV-2 มีความสูง 47.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เมตร น้ำหนัก 2,000 ตัน จรวดแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน จรวดขั้นตอนแรกใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 SL จำนวน 4 เครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน Jet A-1 กับออกซิเจนเหลว จรวดขั้นตอนที่สองใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 Vacuum จำนวน 1 เครื่องยนต์ และจรวดขั้นตอนที่ 3 ใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 Vacuum จำนวน 1 เครื่องยนต์
-
ขีดความสามารถสูงสุดของจรวดนูรี (Nuri) มันถูกออกแบบให้สามารถขนสิ่งของ ดาวเทียม หรือยานอวกาศ น้ำหนัก 3.3 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูง 200 กิโลเมตร ในวงโคจรต่ำของโลก (LEO) น้ำหนัก 2.2 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูง 500-700 กิโลเมตร ในวงโคจรแบบซิงโครนัส (SSO) และน้ำหนัก 1 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูงมากกว่า 700 กิโลเมตร ในวงโคจรแบบจีทีโอ(GTO)
-
สำหรับแผนการในอนาคต เกาหลีใต้เตรียมทำภารกิจส่งจรวดนูรีอีกครั้งในปี 2024 โดยเป็นการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแบบซิงโครนัส (SSO) และภารกิจอื่น ๆ ต่อเนื่องอีก 3 ภารกิจ จนถึงปี 2027 รวมไปถึงการพัฒนาจรวด KSLV-2 ที่สามารถขนส่งสิ่งของหรือดาวเทียมน้ำหนัก 10 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจล่าสุดจากองค์การอวกาศเกาหลีที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เพราะเราเชื่อว่าความสำเร็จของเกาหลีในครั้งนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับองค์การอวกาศของไทย