สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน พบกันเป็นประจำเช่นเคยกับข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในโลกแห่งยานยนต์ สำหรับครั้งนี้เรามีประเด็นสำคัญจะมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทุกคนได้ทราบว่า ตอนนี้สื่อนอกชี้ Covid-19 บีบยานยนต์ไทยต้องมุ่งสู่รถพลังไฟฟ้า – ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ถึงจะรอด ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ต้องมาติดตามอ่านกันครับ
สรุปข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของแวดวงยานยนต์ไทยเวลานี้ ได้ดังนี้
- สำนักข่าว Reuters ระบุการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และมีการมุ่งสู่รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
- ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์ในประเทศไทยมีการว่าจ้างพนักงานทั้งหมดมากกว่า 9 แสนคน การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้มีการปิดโรงงานชั่วคราวและถาวรเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การปลดพนักงานหลายหมื่นคน
-
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังมุ่งสู่การผลิตและจัดจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย เนื่องจากรถพลังงานไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเพียง 10 – 20% เท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนชิ้นส่วนทั้งหมดของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งนั่นทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องปรับตัวด้วยการหันไปผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ
-
นายเกษม เทียนกานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม ฟิลเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตกรองอากาศในรถยนต์กล่าวว่า “ทุกฝ่ายมีความวิตกกังวลอย่างมาก อุตสาหกรรมยานยนต์คืออุตสาหกรรมที่ไร้อนาคต เราไม่สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียวได้ ถ้าเราไม่ปรับตัว เราก็ตาย”
-
สยาม ฟิลเตอร์ โปรดักส์ ไม่ได้เลย์ออฟพนักงานแต่ใช้วิธีการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอื่นทดแทนคำสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงอย่างมาก โดยมีการผลิตกรองอากาศสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการใช้งานทางการแพทย์แทน
-
ด้านนายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ช่วงเวลานี้คือจุดเปลี่ยนของหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทต่าง ๆ จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่มีอยู่ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
-
สถาบันวิจัย IHS Markit คาดการณ์ว่า ยอดขายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอาจลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 1.14 ล้านคันเท่านั้นในปีนี้อันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า
-
รถพลังงานทางเลือกอนาคตสดใส ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่ายอดขายรถพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 6% ไปอยู่ที่ 2.3 ล้านคันในปีนี้ ก่อนที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปถึง 45 ล้านคันในปี 2030
-
ขณะที่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศเป้าหมายการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าให้ถึงระดับ 30% หรือ 750,000 คันภายในปี 2030 ด้วยเป้าหมายหลักคือการลดมลพิษ โดยมีการออกนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนด้านรถพลังงานทางเลือกภายในประเทศ
-
ในปี 2018 Honda และ Nissan ได้รับการอนุมัติการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฮบริดและแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าในไทย ขณะที่สามมิตรกรุ๊ปก็ได้รับการอนุมัติการลงทุนสร้างรถพลังงานไฟฟ้า 30,000 คันต่อปี
-
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ยิ่งการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยจำนวนกว่า 800 รายที่ว่าจ้างพนักงานกว่า 325,000 คน เนื่องจากรถพลังงานไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนเพียง 1,500 – 3,000 รายการเท่านั้น น้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ชิ้นส่วนถึง 30,000 รายการ
-
กระนั้น มีบริษัทรถยนต์อีกหลายรายที่เรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้า อาทิ Great Wall Motor บริษัทผู้นำตลาดรถกระบะจากจีนซึ่งเพิ่งซื้อโรงงาน 2 แห่งของ General Motors ในจังหวัดระยอง ได้ระบุถึงความต้องการแรงสนับสนุนจากรัฐบาลในการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า
-
กิรณี ธรรมภิบาลอุดม นักวิเคราะห์ของ Maverick Consulting Group กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน รัฐบาลจะต้องสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนและผู้บริโภค ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ตามหากนโยบายไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้า ทั้งการผลิต การบริโภค และระบบนิเวศทั้งหมด
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงยานยนต์ไทย จะเห็นได้ว่านี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งหากประเทศไทยปรับตัวได้เร็วก็จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้ หากไม่แล้วเราก็จะต้องเป็นผู้ตามอีกเช่นเคย
ที่มา: สำนักข่าว Reuters