ครั้ง “รัฐบาลทักษิณ” เริ่มต้นแนวคิด “อีโคคาร์” เมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว นัยแรกคงหวังใจให้เป็นรถเล็กราคาประหยัดที่ผู้คนสามารถซื้อหาเป็นเจ้าของได้ ง่าย พร้อมสร้างฝันด้วยราคาขายประมาณ 3 แสนบาท เพื่อสอดคล้องกับโปรเจกต์เอื้ออาทรต่างๆ
หลายปีผ่านไปโครงการ “อีโคคาร์” ข้ามยุคเปลี่ยนสมัยมาเรื่อย จนถึงวันนี้หลายคนคงรู้แล้วว่า มันไม่ใช่รถราคาประหยัด (Economy Car) ดั่งความตั้งใจแรก เพราะในเงื่อนไขสุดท้ายที่รัฐบาลวางกรอบไว้ให้ค่ายรถยนต์ จะเน้นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” กับโมเดลการลงทุนมากกว่า (เม็ดเงิน กับ กำลังผลิต) ดังนั้นเราจึงได้คำจำกัดความล่าสุดของอีโคคาร์คือ “รถประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล” ซึ่งภาษาอังกฤษน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า Ecology Car แต่กระนั้นด้วยข้อกำหนดเรื่องขนาดของเครื่องยนต์ (เบนซินไม่เกิน 1300 ซีซี ดีเซลไม่เกิน 1400 ซีซี) และได้ภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ 17% ที่ต่ำกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป ก็ถือเป็นการกำหนดราคาขาย และระดับการทำตลาดไปในตัว
ดังนั้นคงไม่ผิดที่หลายคน จะติดภาพ “อีโคคาร์” ว่าเป็นรถราคาถูก หรืออย่างน้อยสองค่ายรถยนต์ “นิสสัน” – “ฮอนด้า” ที่ทำรถประเภทนี้ออกมาขาย ก็เปิดราคาด้วยเลข 3 (แสนบาท) นำหน้าทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ราคาที่เริ่มต้นด้วยเลข 3 อาจเป็นจิตวิทยายั่วความอยากให้ผู้คนสนใจ เพราะสุดท้ายอย่างที่รู้กันว่า รุ่นดี-สเปกโดน เราๆ ท่านๆ อาจจะต้องควักเงินถึง 4 แสนกลางๆ ถึง 5 แสนบาท หรือยิ่งเห็นการเปิดตัวของ “ฮอนด้า บริโอ้” ที่แบ่งระดับการขายเป็น เกียร์ธรรมดา 2 รุ่น ราคา 399,900 บาท กับ469,500 บาท และเกียร์อัตโนมัติรุ่นเดียวคือ 508,500 บาท ซึ่งประธานฮอนด้าออกมาเผยเองว่า ยอดขายบริโอ้จะมาจากตัวท็อปถึง 70% ในเมื่อ “บริโอ้” เหมือนโดนบังคับให้ซื้อเกียร์อัตโนมัติรุ่นเดียว “ไอทีเมามันส์” จึง นำ “มาร์ช” ที่ระดับราคาใกล้เคียงกันมาทดสอบ พร้อมเปรียบเทียบนิสัยของทั้งคู่ว่าเป็นอย่างไร และคันไหนน่าคบหา กับงบในกระเป๋าไม่เกิน 512,000 บาท ทั้งนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอบทความเปรียบเทียบออปชัน และการลองขับ มาร์ช-บริโอ้ แบบต่างวันต่างวาระมาก่อนหน้าแล้ว แต่คราวนี้ทั้งคู่ถูกนำมาทดสอบพร้อมกัน แบบลุกอีกคันไปนั่งอีกคัน หวังจับความรู้สึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ออปชัน-ประโยชน์ใช้สอย สำหรับนิสสัน มาร์ช เพิ่งปรับราคาเพิ่มขึ้น 5,000 บาททุกรุ่นย่อย โดยอ้างเรื่องต้นทุนที่ต้องแบกรับมานาน ดังนั้น ตัวล่างสุด S เกียร์ธรรมดา จะเริ่มต้น 380,000 บาท ไปจนถึงตัวท็อป VL 542,000 บาท ส่วนรุ่น V ที่นำมาทดสอบจะขยับราคาเป็น 512,000 บาท โดยเปรียบได้กับบริโอ้ รุ่น V ราคา 508,500 บาท และเมื่อเทียบออปชันกันปอนด์ต่อปอนด์แล้ว “มาร์ช” ดูดีกว่า “บริโอ้” พอสมควร โดยสิ่งที่มาร์ชจัดมาให้มากกว่าแบบสัมผัสได้ด้วยตา ไล่ตั้งแต่ที่ปัดน้ำฝนหลังแบบหน่วงเวลาพร้อมไล่ฝ้า (บริโอ้ ไม่มี) ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ (บริโอ้ ธรรมดา) เครื่องเสียงเล่น CD/MP3 1 แผ่น พร้อมช่องต่ออุปกรณ์ภายนอก AUX ลำโพง 4 ตัว (บริโอ้ เป็นช่องเสียบ AUX และ USB ลำโพง 2 ตัว) ตลอดจนล้ออัลลอย 15 นิ้วประกบยาง 175/60 R15 (บริโอ้ ล้ออัลลอย 14 นิ้วประกบยาง 175/65 R14)
ทั้งสองรุ่นจัดออปชันความปลอดภัยระดับ ถุงลมคู่หน้า (คนขับ-ผู้โดยสาร) เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับ ระบบเบรก ป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD แต่มาร์ชจะมีระบบเสริมแรงเบรก BA มาให้ ส่วนไฟเบรกดวงที่สามที่ฝังบริเวณสปอยเลอร์หลัง มาร์ชจะใช้หลอดธรรมดา แต่บริโอ้เป็นLED สำหรับมิติตัวถังมาร์ชจะดูใหญ่กว่า บริโอ้ ด้วยความยาว (มาร์ช/บริโอ้) 3,780/3,610 มม. กว้าง 1,665 /1,680 มม. สูง 1,515/1,485 มม. และระยะฐานล้อ 2,450/2,345 มม. การเข้า-ออกประตูหน้าทำได้สะดวกพอๆ กัน โดยเบาะคู่หน้าของบริโอ้เป็นแบบขึ้นรูปชิ้นเดียว และสามารถปรับเลื่อนหน้า-ถอยหลัง เอนพนักพิงได้ ส่วนมาร์ชเป็นเบาะแบบแยกชิ้นพนักพิงและหมอนรองหัว แถมเลื่อนหน้าถอย-หลัง ปรับระดับสูงต่ำ และองศาพนักพิง เหนืออื่นใดด้วยสรีระของผู้เขียน (สูงเกือบ 180 ซม.) เมื่อนั่งเบาะของบริโอ้จะรู้สึกว่ากระชับและสบายกว่ามาร์ช แม้ตัวเบาะจะกดลงต่ำไม่ได้ แต่พอนั่งจริงๆ แล้ว มุมมองพร้อมระยะการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ก็พอดีมือ สำหรับการเข้า ออกประตูหลัง มาร์ชทำได้สะดวกกว่า และพอขึ้นไปนั่งจะพบว่าระยะห่างช่วงขา(Leg room) เหลือพอๆ กัน แต่มาร์ชจะมีระยะห่างช่วงหัวถึงหลังคา (Head room) มากกว่าบริโอ้ ซึ่งรวมๆ แล้วการนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังของรถทั้งสองคันก็ไม่ได้อึดอัดอะไร (ถ้านั่งกันไปแค่ 2 คน) แต่ด้วยมิติตัวรถของบริโอ้ที่สั้นกว่ามาร์ช จะมีจุดด้อยที่สะท้อนเต็มๆ ตรงพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง เพราะถ้าไม่พับเบาะลง พื้นที่ด้านหลังของบริโอ้แทบไม่เหลือเลย เรียกว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่หมดสิทธิ์ได้วีซ่าแน่นอน ด้านการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ผู้เขียนประเมินว่าไม่ต่างกันมาก เสียงเครื่องยนต์ ลมปะทะ เสียงยางบดถนน สะท้านเข้ามาพอสมควร ขณะเดียวกัน เครื่องเสียงที่ติดมากับรถก็ขับกล่อมอยู่ในเกณฑ์ดี (กรณีนั่งข้างหน้า) อย่างไรก็ตาม ลักษณะของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายใน ทั้งแดชบอร์ด แผงประตู ซึ่งเป็นส่วนที่เห็นชัดสัมผัสทุกวัน ถือว่ามาร์ชเก็บงานได้ละเอียดกว่าบริโอ้ ลองขับ-จับสมรรถนะ ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1198 ซีซี วาล์ไอดีแปรผันเหมือนกัน แต่มาร์ชเป็นบล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 79 แรงม้า จากตระกูล HR หรือจะว่าไปคือการนำHR16DE ที่วางใน ทีด้ารุ่น 1.6 ลิตร (1598 ซีซี) มาตัดออกไป 1 สูบ (หายไป 400 ซีซีพอดี ) ส่วนบริโอ้ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 90 แรงม้า พัฒนามากจาก L15A ที่ประจำการใน “แจ๊ซ” – “ซิตี้” ที่ขายในบ้านเรา แต่ลดความจุกระบอกสูบจาก 1497 ซีซี ให้เหลือ 1198 ซีซี ด้วยการปรับความยาวช่วงชักกระบอกสูบ ด้านระบบส่งกำลัง รถทั้งสองรุ่นใช้เกียร์อัตโนมัติแบบอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT ซึ่งวิศวกรญี่ปุ่นย้ำว่า พัฒนาให้เกียร์มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับประเทศไทยและพฤติกรรมการขับของคนไทย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จากการลองจับเวลาของผู้เขียน พบว่าทั้งคู่ทำได้ใกล้เคียงกันที่ 15 วินาที แต่การขับจริงๆ แล้ว บริโอ้จะรู้สึกกระฉับกระเฉงกว่ามาร์ช พละกำลังมาตามแรงกดของฝ่าเท้า หรือกระตุ้นแรงตั้งแต่ 1,000-2,000 รอบ ทั้งยังมาต่อเนื่องทุกย่านความเร็ว ในส่วนของมาร์ชนั้นอาจจะรู้สึกกระชาก ช่วงออกตัวนิดเดียว แต่พอไล่ความเร็วขึ้นไป 40-80 กม.ชม. ต้องบี้คันเร่ง พร้อมกับความเร็วที่ค่อยๆไต่มาตามรอบ ซึ่งจริงๆก็ไม่อืดหรอกครับ แต่อย่างที่บอกว่าการขับรวมๆบริโอ้ จะดูกระตือรื้นร้นกว่า ขณะที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ขับนิ่งๆรอบจะอยู่แถว 2,000 เท่ากันทั้งสองรุ่น ส่วนบริโอ้จะล็อกความเร็วเอาไว้ 143-145 กม./ชม. ซึ่งความเร็วนี้จะเจอกันที่ 6,000 รอบ แต่สำหรับมาร์ชนั้นแว่วมาว่า สามารถทำความเร็วสูงสุดได้กว่า170 กม./ชม.เลยทีเดียว สำหรับความเร็วสูงสุดของ “บริโอ้” ผู้เขียนมองว่า เหมาะสมแล้วกับลักษณะทางกายภาพเดิมๆของรถ แต่ถ้าใครอยากจะปลดล็อกให้ขับได้เกินกว่านี้ คงต้องไปปรับช่วงล่าง ขนาดยาง หรือ พวงมาลัยด้วย แม้ช่วงล่างเดิมๆ ของบริโอ้ ที่ด้านหน้าเป็นแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง (มาร์ชไม่มีเหล็กกันโคลง) หลังเป็นคานแข็ง จะตอบสนองการขับได้ดีระดับหนึ่ง หรือวิ่งในโค้งก็เกาะถนนเยี่ยม แต่ด้วยการเซ็ทพวงมาลัยมาคมกริบ ทำให้การบังคับควบคุมช่วงการขับความเร็วสูง รถอาจจะแกว่งมากไปนิด ดังนั้น ถ้าขับบนความเร็วกว่า 140 กม./ชม. นิสสัน มาร์ช ที่เซตช่วงล่างมาสุดยอดไม่แพ้กัน จะให้ความรู้สึกมั่นใจกว่า ส่วนจุดเด่นของบริโอ้ ด้านอัตราเร่ง องศาเลี้ยวพวงมาลัยแม่นยำ และการเซ็ทช่วงล่างไม่นุ่มไม่แข็งจนเกินไป จะช่วยให้การขับขี่ในเมืองคล่องตัว มุดซ้ายป่ายขวาทำได้ทันใจ ขณะเดียวกันการเป็นรถท้ายสั้นพร้อมกระจกหลังบานโต ก็ช่วยให้การถอยเข้าจอดสะดวก และกะระยะง่าย วัดตัวเลขจิบน้ำมัน การลองสมรรถนะรถทั้งสองรุ่น ทีมงาน “ไอทีเมามันส์” มีโอกาสวัดอัตราบริโภคน้ำมัน โดยเติม แก๊สโซฮอล์ 95 เต็มถังจากปั๊มแถวจังหวัดสมุทรสงคราม และใช้ถนนพระราม 2 วิ่งกลับกรุงเทพฯ ไปจบที่ถนนราชพฤกษ์ ซึ่งช่วงแรกใช้ความเร็วเฉลี่ย 100-110 กม./ชม. จนมาเจอการจราจรหนาแน่นสลับหยุดนิ่ง ตั้งแต่มหาชัยจนถึงถนนกาญจนาภิเษก สุดท้ายเมื่อขับรถมาถึงปั๊มน้ำมันเป้าหมาย ปรากฏว่าบริโอ้วิ่งไป 72.1 กิโลเมตร ส่วนมาร์ช 72.5 กิโลเมตร จากนั้นก็เติมน้ำมันกลับเข้าไปจนหัวจ่ายตัด ซึ่งเป็นของบริโอ้ 3.12 ลิตร และมาร์ช 3.30 ลิตร ดังนั้น เมื่อหารระยะทางกับน้ำมันที่ใช้ไป จะได้อัตราบริโภคน้ำมัน 23.10 กม./ลิตร และ 21.96 กม./ลิตร ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลขหน้าจอแสดงผลอัจฉริยะของบริโอ้ โชว์ไว้ 18.1 กม./ลิตร ส่วนมาร์ช 18.0 กม./ลิตร รวบรัดตัดความ… “บริโอ้” มาพร้อมความกะทัดรัด ขับสนุกแนวสปอร์ต ซึ่งต่างจาก “มาร์ช” ที่จะออกแนวสุขุมนุ่มลึก ขณะที่ผลการทดสอบอัตราการบริโภคน้ำมันคร่าวๆ กลายเป็นว่าอีโคคาร์จากฮอนด้าประหยัดกว่านิดๆ แต่กระนั้นคงไม่สามารถฟันธงได้เต็มปาก เพราะต้องพิจารณาตัวแปรที่ควบคุมลำบากอย่าง สภาพรถ นิสัยการขับ สภาพการจราจร หรือระยะทางที่ทดสอบอาจจะสั้นเกินไป ส่วนในรุ่น V ที่ราคาต่างกัน3,500 บาท แต่สิริรวมแล้ว “นิสสัน มาร์ช” จะให้ความคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับเงินที่เสียไป ข้อมูลจาก http://manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076375