จรวดที่สามารถถูกนำมาใช้ซ้ำได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการขนส่งอวกาศได้มาก และคงเป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีจรวดใช้ซ้ำได้ที่ถูกนำมาใช้งานในเชิงพานิชย์แล้วนั้นมีเพียงบริษัทเดียวในโลกคือ SpaceX จากสหรัฐอเมริกา แต่การแข่งขันด้านธุรกิจอวกาศกำลังจะสนุกยิ่งขึ้นเมื่อล่าสุดบริษัทสตาร์ตอัปในประเทศจีนอย่างกาแล็กติก เอเนอร์จี (Galactic Energy) เตรียมส่งจรวดใช้ซ้ำได้ลำแรกของประเทศจีนชื่อพิลลาส 1 (Pillas 1) ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกภายในปี 2024 แล้ว หากบริษัท กาแล็กติก เอเนอร์จีส่งจรวดพิลลาส 1 ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ บริษัทจะกลายเป็นบริษัทที่ 3 ของโลกที่สามารถส่งจรวดใช้ซ้ำได้ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ รองลงมาจากบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และบริษัท บลูออริจิ้น (Blue Origin) ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็ยอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- สำหรับส่วนประกอบหลักของจรวดพิลลาส 1 สร้างมาจากวัสดุคอมโพสิตที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง โดยตัวจรวดมีความกว้างประมาณ 4 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับความสูงของช้างไทยที่ 2.5 เมตร จำนวน 4 ตัว ยืนซ้อนกันโดยจรวดพิลลาส 1 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
-
ส่วนที่ 1 หรือที่เรียกว่าสเตจ 1 อยู่บริเวณส่วนปลายของจรวด มาพร้อมกับเครื่องยนต์มากถึง 7 ตัว ให้แรงขับรวมกันอยู่ที่ 350 ตัน ณ ความสูงระดับน้ำทะเล ซึ่งจะทำหน้าที่ออกแรงดันเพื่อให้จรวดพุ่งตัวออกจากพื้นและมุ่งหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากเครื่องยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงจนหมดส่วนที่ 1 จะแยกตัวออกมาและหล่นลงสู่พื้นโลก
-
ส่วนที่ 2 หรือสเตจ 2 อยู่บริเวณกลางลำตัวของจรวด มาพร้อมเครื่องยนต์ 1 ตัว ซึ่งให้แรงขับอยู่ที่ 60 ตัน จะเริ่มทำงานทันทีเมื่อส่วนที่ 1 แยกตัวออกไป เพื่อพาเพย์โหลดไต่ระดับความสูงขึ้นไปจนเข้าสู่วงโคจรที่กำหนด เมื่อเครื่องยนต์เผาไหมเชื้อเพลิงจนหมด ส่วนที่ 2 จะแยกตัวจากเพย์โหลดแล้วหล่นลงสู่พื้นโลก
-
เพย์โหลด (Payload) ที่อยู่บริเวณส่วนหัวจรวด ซึ่งเป็นส่วนสำหรับบรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตรที่จะส่งขึ้นสู่วงโคจร
-
จรวดพิลลาส 1 สามารถส่งเพย์โหลดขึ้นสู่วงโคจรได้ 2 ประเภท คือ วงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) และวงโคจรสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ (Sun-Synchronous Orbit) ที่วัตถุในวงโคจรนี้จะโคจรรอบโลกไปพร้อมกับดวงอาทิตย์
-
โดยเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเหลวประกอบด้วยออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) และเคโรซีน (Kerosene) หรือที่รู้จักกันในชื่อน้ำมันก๊าซ
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงอวกาศที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะสร้างความตื่นเต้นให้กับทุกคน และหากมีข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที