นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ยังไม่เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลงของระบบธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นไม่ได้เป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัว หรือเป็นเพราะกนง.ปรับลดดอกเบี้ยน้อยเกินไปจนทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไม่มีผลต่อนัยดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ หรือเพียงช่วยแรงกดดันด้านต้นทุนธนาคารพาณิชย์ให้ลดลงเท่านั้น แต่คาดว่าทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ต้องการเก็บสภาพคล่องไว้ เพราะต่างคาดการณ์กันว่าหลังจากที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมหนัก จะทำให้ประชาชนมีความต้องการสินเชื่อจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ เพื่อเตรียมรองรับความต้องการสินเชื่อเพื่อการใช้จ่าย ที่เกิดจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าน่าจะออกมามากรวมทั้งรองรับความต้องการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และกิจการของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป “ส่วนตัวไม่คิดว่าการที่กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อย จะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยน้อย หรือไม่ลดดอกเบี้ยเลย หรือมีนัยทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินไม่มีผลต่อตลาดเลย เพราะการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะประกอบด้วยหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเขาก็ดูจากการส่งสัญญาณของกนง.แล้ว ขณะนี้การลดดอกเบี้ยต้องทำอย่างระมัดระวังและเป็นเรื่องที่ต้องใชเวลา” นายเกริก กล่าว อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัตถุประสงค์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.จะช่วยให้ภาระต้นทุนในการกู้ยืมเงินของประชาชน และภาคธุรกิจลดลงแต่หน้าที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.เป็นเรื่องของการส่งสัญญาณภาวะทางเศรษฐกิจ ให้ทุกคนได้รับรู้และปรับตัว หรือเป็นการชี้นำตลาดว่า ทิศทางเป็นอย่างไร ส่วนตลาดจะตอบสนองหรือปรับรับได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสภาพคล่องแต่ละธนาคาร และอีกหลายปัจจัยมาประกอบด้วย ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า