การแข่งขันเปิดโครงการใหม่ ในธุรกิจอสังหาฯ ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ไม่เพียงคอนโดมิเนียมทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้า ที่ยังคงเปิดตัวแทบทุกสัปดาห์ ครอบคลุมทั้งทำเลใกล้รถไฟฟ้า และทำเลจุดเชื่อมต่อระหว่างใจกลางย่านธุรกิจ และทำเลรอบนอกที่รถไฟฟ้าวิ่งถึง ส่งผลให้ราคาที่ดินในเมืองขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้นทุนราคาที่ดินและค่าก่อสร้างในการทำโครงการบ้านจัดสรรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการใหม่ในเมืองมีราคาสูงขึ้น และมีการออกแบบเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในโซนพระราม 2 หากต้องการซื้อทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นใหม่ ระดับราคา 2 ล้านบาทเศษ จะไม่สามารถหาได้อีกต่อไป เนื่องจากต้นทุนที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องหันมาพัฒนาทาวน์เฮ้าส์เป็น 3 ชั้น และปรับระดับราคาสูงขึ้นเป็น 3 ล้านบาทด้วย “ตอนนี้ตลาดบ้านจัดสรรในเมือง เริ่มกลายเป็นตลาดของบ้านมือสอง เพราะบ้านใหม่มีราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องอาศัยในเมือง หันมาซื้อบ้านมือสองแทน อย่างไรก็ดี ยังพอมีกลุ่มหนึ่งที่ยังคงดูดซับบ้านใหม่ที่แพงขึ้นอยู่บ้าง เพราะต้องการสาธารณูปโภคที่ดีกว่า” นายอิสระ กล่าวอีกว่า ในช่วงหลังจากนี้ จะยังคงมีการกระจายตัวของคนกรุงเทพฯออกสู่ปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ผ่านมาเริ่มเห็นชัดแล้ว ในทำเลลำลูกกา จ.ปทุมธานี หรือ บางบัวทอง จ.นนทบุรี แต่ปัจจุบัน ทั้ง 2 ทำเลดังกล่าวก็เริ่มมีราคาที่ดินสูงขึ้นแล้วเช่นกัน ทำให้ระดับราคาทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นในทำเลดังกล่าวปรับขึ้นไปถึงปลายๆ 1-2 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้อนาคตทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค มีแนวโน้มกระจายออกสู่ทำเลที่ระดับราคายังอยู่แค่ 1 ล้านบาทต้นๆ ไม่เกิน 3 ล้านบาท เช่น สมุทรปราการ “สมุทรปราการเป็นทำเลที่ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยส่วนที่เป็นฝั่งตะวันออกนั้น มีปัจจัยดี จากส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า จากสถานีแบริ่งต่อมาเรื่อยๆ ส่วนฝั่งตะวันตก แม้จะไม่มีรถไฟฟ้า แต่ก็มีการปรับปรุงถนนสุขสวัสดิ์ให้กว้างขึ้น และยังมีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทั้งจากสะพานวงแหวนรอบนอก และสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ปัจจุบันราคาทาวน์เฮ้าส์ในทั้ง 2 ทำเลอยู่แค่เพียง 1 ล้านบาทต้นๆ เท่านั้น ขณะที่บ้านเดี่ยวก็ราคาเพียงแค่ 2 ล้านต้นๆ” อย่างไรก็ดี ราคาบ้านแนวราบในกรุงเทพฯ จะยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของราคาที่ดิน และการกำหนดอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินในผังเมือง