สวัสดีคอนวัตกรรม และผู้ที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทุคน วันนี้เรามีข่าวดีจะแจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนา ‘หุ่นยนต์นิ้ว’ หุ้มด้วยเซลล์ผิวหนัง-สมานแผลได้ อีกขั้นที่เข้าใกล้การเลียนแบบมนุษย์แล้ว ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ถือเป็นอีกขั้นของการสร้างหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวพัฒนา ‘หุ่นยนต์นิ้ว’ ที่ห่อหุ้มด้วยเซลล์ผิวหนังที่ยังมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ สามารถสมานบาดแผลเองได้ กันน้ำได้ และนักวิจัยยังบอกอีกว่า มีลักษณะ ‘เปียกเหงื่อ’ หน่อยๆ ด้วย
- การพัฒนาครั้งนี้ได้รับการนำเสนอในวารสาร Matter เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่ง โชจิ ทาเคอุจิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว หัวหน้าทีมวิจัย ก็บอกว่า “เรารู้สึกเซอร์ไพรส์ที่เนื้อเยื่อผิวหนังเข้ากันได้อย่างดีกับพื้นผิวของหุ่นยนต์”
- “ผมคิดว่าผิวหนังที่ยังมีชีวิตอยู่ คือคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้หุ่นยนต์มีรูปลักษณ์และสัมผัสที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตจริงๆ เพราะมันก็คือวัสดุเดียวกันกับที่ห่อหุ้มร่างกายของสัตว์” ทาเคอุจิระบุ พร้อมกับมองว่า ความก้าวหน้าครั้งนี้ยังมีศักยภาพพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ได้ด้วย
- สำหรับการหุ้มหนัง ทาเคอุจิบอกว่า ทีมนักวิจัยเริ่มจากการจุ่มหุ่นยนต์นิ้วลงไปในสารละลายที่มีส่วนผสมจากคอลลาเจนและเซลล์ไฟโบรบลาสต์ชั้นหนังแท้ของมนุษย์ (dermal fibroblasts) ซึ่งเมื่อจุ่มแล้วก็จะหดและยึดติดกับนิ้วอย่างพอดีและเป็นเนื้อเดียวกัน
- จากนั้น การห่อหุ้มในชั้นนี้ก็จะเป็นฐานให้กับเซลล์ชั้นถัดไป คือ เซลล์เคราติโนไซต์ในชั้นผิวหนังกำพร้า (epidermal keratinocytes) โดยจะเกาะยึดกับเลเยอร์แรก และถือเป็น 90% ของผิวหนังชั้นนอกทั้งหมด ซึ่งก็เป็นชั้นนี้ที่จะทำให้หุ่นยนต์ดูชุ่มชื้นและมีสัมผัสคล้ายกับผิวหนังจริงๆ
- อย่างไรก็ดี งานหุ่นยนต์นิ้วชิ้นนี้ก็ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อ เพราะผิวหนังของมันมีความอ่อนแอกว่าผิวหนังธรรมชาติมาก และต้องถูกเก็บไว้ในที่ชื่นตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เซลล์แห้งและตาย รวมถึงการเคลื่อนไหวของมันก็มีความเป็นหุ่นยนต์ ยังไม่สมจริงเป็นธรรมชาติเท่าที่ควร
- นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่า การสร้างหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์เช่นนี้ก็อาจทำให้เกิดเอฟเฟกต์ ‘uncanny valley’ ได้ ซึ่งก็คือความรู้สึกวิตกกังวล หรืออารมณ์ในด้านลบเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์มากๆ
- แต่ในเรื่องนี้ ฟาเบียน กราเบนฮอร์สต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็ชี้ว่า ถ้ามนุษย์ได้มีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์บ่อยๆ ก็อาจช่วยให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นบวก และลบล้างความรู้สึกในด้านลบนี้ไปได้
ต่อไปนี้ ทึมนักวิจัยจากญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาหุ่นยนต์นิ้วให้มีฟังก์ชันที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น การสร้างประสาทสัมผัส รูขุมขน ต่อมเหงื่อ เล็บ รวมถึงวางแผนจะทำงานเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีใบหน้าห่อหุ้มด้วยผิวหนังจริงๆ ด้วย