สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งกับเรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ สำหรับในครั้งนี้เราจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับการค้นพบครั้งสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ชะลอวัย เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ได้แก่ชราลงอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกายถึงคราวทรุดโทรม 3 ครั้งใหญ่ในชีวิต ซึ่งการค้นพบนี้จะมีความสำคัญอย่างไร เราลองมาติดตามอ่านกันเลยครับ
วันขึ้นปีใหม่มาถึงอีกครั้ง ตอกย้ำให้เรารู้สึกว่าวันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว และหลายคนอาจคิดว่าอายุที่มากขึ้นฟ้องว่าตัวเองกำลังแก่ชราลงไปทุกขณะ
แต่อันที่จริงแล้ว ผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine กลับชี้ว่า ความชราของมนุษย์ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่ร่างกายจะมีวาระที่เกิดการทรุดโทรมเสื่อมถอยในระดับเซลล์ครั้งใหญ่รวม 3 ครั้งด้วยกันในชีวิต
ทีมนักชีววิทยาที่ศึกษาเจาะลึกเรื่องความชราภาพของ ม.สแตนฟอร์ดพบว่า ระดับปริมาณของโปรตีนหลายพันชนิดในเลือด หรือที่เรียกว่าโปรทีโอม (proteome) สามารถจะใช้ทำนายอายุที่แท้จริง และระดับความแก่ชราที่เกิดขึ้นจริงกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของคนเราได้ ซึ่งทำให้พบว่าความชรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นในอัตราเร็วเดียวกันตลอดทั้งชีวิต
มีการวิเคราะห์ผลตรวจน้ำเลือดหรือพลาสมาจากกลุ่มตัวอย่าง 4,263 คน ซึ่งอยู่ในวัย 18-95 ปี โดยดูถึงระดับปริมาณของโปรตีนกว่า 3,000 ชนิดในน้ำเลือดดังกล่าว และพบว่ามีโปรตีนในจำนวนนี้ 1,379 ชนิด หรือราว 1 ใน 3 ที่ปริมาณเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวัย
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกิดความเปลี่ยนแปลงของโปรตีนครั้งใหญ่นี้ ขณะถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเมื่อมีอายุได้ 34 ปี และเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกสองครั้งเมื่อถึงวัยกลางคนตอนปลายคือ 60 ปี และในวัยชราเมื่อมีอายุ 78 ปี
วิธีการตรวจโปรตีนในเลือด เพื่อหาอายุที่แท้จริงของอวัยวะต่าง ๆ อาจพร้อมใช้งานได้จริงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดความชราอย่างไม่ต่อเนื่องเช่นนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ทางการแพทย์ โดยช่วยให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความชรา เช่นโรคอัลไซเมอร์รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษา
นอกจากนี้ การตรวจโปรตีนในเลือดยังทำให้ทราบถึงความแข็งแรงหรืออ่อนแอที่แท้จริงของสุขภาพร่างกายได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และแพทย์ยังสามารถเตือนให้คนไข้ทราบได้ด้วยว่า อวัยวะส่วนใดยังอ่อนเยาว์หรือมีความชราต่างไปจากอายุที่คิดจากปีเกิดบ้าง เช่นปริมาณของไลโปโปรตีน (lipoproteins) หลายชนิด สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
ทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ตรวจโปรตีนในเลือดราว 373 ชนิด ซึ่งจะบ่งบอกถึงอายุที่แท้จริงของคนเราได้อย่างแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งน่าจะทำได้สำเร็จภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ และจะพร้อมใช้งานในระดับคลินิกภายในอีก 5-10 ปี