สวัสดีเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกทุกคน วันนี้เรามีข่าวที่น่าสนใจจะมาแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบว่า ล่าสุด นิสสัน ได้ร่วมกับ บริษัทรถไฟในญี่ปุ่น เพื่อนำแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ในหลากหลายกิจกรรม
รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามหาคำตอบได้ที่ด้านล่างนี้เลย
- เมื่อกระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตก็มีมากขึ้นตามมา แต่การนำแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วนำกลับมารีไซเคิลใหม่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วนั้นได้เกิดการใช้งานอย่างคุ่มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
- อย่างในประเทศญี่ปุ่น บริษัท นิสสัน ร่วมมือกับ บริษัท รถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (East Japan Railway – JR East) ได้พัฒนานำแบตเตอรี่ใช้แล้วของรถยนต์ไฟฟ้านำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์ทางข้ามทางรถไฟ เช่น ไฟ, สัญญาณเตือน, เครื่องควบคุม และไม้กั้นทางรถไฟ เป็นต้น
- ปัจจุบันญี่ปุ่นมีโครงข่ายรถไฟกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้นทางข้ามรถไฟจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่สัญจรไปมา บริษัทรถไฟได้มีการติดตั้งไฟสำรองในแต่ละทางแยกเพื่อให้ทางข้ามสามารถทำงานได้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา รวมถึงในระหว่างการซ่อมบำรุงตามกำหนดและเมื่อไฟฟ้าดับชั่วคราว สำหรับแหล่งพลังงานสำรองเหล่านี้เดิมทีใช้แบตเตอรี่ที่ใช้ปฏิกิริยาจากตะกั่วและกรด จนเมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนจากแบตเตอรี่ดังกล่าวมาเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้วอย่าง นิสสัน ลีฟ โดยมีการใช้งานจริงแล้วบนทางข้ามอาทาโกะสายโจบัง ซึ่งวิ่งผ่านเมืองมินามิโซมะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้แล้วของนิสสัน ลีฟ สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ แม้จะสิ้นสุดวงจรชีวิตการใช้งานในรถยนต์แล้วก็ตาม อีกทั้งยังใช้เวลาในการชาร์จเพียง 1/3 ของเวลาในการชาร์จเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ตะกั่วกรดอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีความทนทานมากกว่า โดยมีอายุเฉลี่ย 10 ปี เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่มาตรฐานทั่วไปที่มีอายุการใช้งาน 3-7 ปี
- ไคโตะ โทชิฮาร่า ผู้ช่วยหัวหน้านักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ JR East (Kaito Tochihara, assistant chief researcher at the East Japan Railway R&D center) กล่าวว่า “หากเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ตะกั่วกรด เราต้องคอยไปบำรุงรักษาสภาพการใช้งานอยู่เป็นระยะ แต่เมื่อเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่นำกลับมาใช้ใหม่ จะมีระบบควบคุมเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เราสามารถเช็คสภาพได้จากระยะไกล ซึ่งจะช่วยพัฒนามาตรฐานการบำรุงรักษา ระบบนี้ยังช่วยให้สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันได้ด้วยระบบแจ้งเตือนให้เราทราบถึงสถานะของแบตเตอรี่ก่อนที่แรงดันไฟจะต่ำเกินไป”
- นอกจากนี้เพื่อให้แบตเตอรี่สามารถทนต่อสภาพอากาศเลวร้าย ได้มีการปรับปรุงการควบคุมแบตเตอรี่ให้เหมาะสมตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเกิดไฟฟ้าผ่าลงมาที่รถยนต์ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะเคลื่อนลงสู่พื้นผ่านตัวรถ เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลเข้าสู่แบตเตอรี่ แต่แบตเตอรี่ที่ถูกนำมาใช้ในทางข้ามรถไฟจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ไม้กั้น สัญญาณเตือน และเครื่องควบคุม ผ่านทางสายไฟ หากมีฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง กระแสไฟฟ้าสามารถไหลเข้าสู่แบตเตอรี่ได้โดยตรงผ่านสายไฟนั่นเอง
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่เราอยากจะอัพเดทให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอเทคโนโลยีกันทุกคน และหากมีเรื่องราวที่น่าสนใจในวงการเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบโดยทันที