นายอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจร่วมกับสหรัฐอเมริกาต่อไปได้ การปฏิบัติตามกรอบกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้าในสหรัฐฯ รวมทั้งพนักงานในองค์กรและสร้างความเจริญเติบโตระยะยาวแก่ธุรกิจ บริษัทยินดีที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับอัยการสูงสุดในครั้งนี้ได้ ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ประกาศว่าสามารถบรรลุข้อตกลงในคดีความว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act – UCA) กับบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด โดยบริษัทตกลงที่จะจ่ายค่าปรับจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในฐานที่ได้เคยใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้ บริษัทได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสามารถประกอบธุรกิจภายใต้พระราชบัญญัติสิขสิทธิ์ของไทย โดยในปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมด นางสาววิรามฤดี โมกขะเวส ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า นี่เป็นคดีแรกของโลกที่อัยการสูงสุดประจำมลรัฐ ได้ดำเนินการตามกฎหมายในคดีการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทต่างชาติ และยังได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเจตจำนงที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกกฎหมายในการดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอน กรณีดังกล่าวเป็นผลจากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ได้สร้างแรงกดดันกับทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งในและนอกสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงกับอัยการสูงสุดในครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ถูกต้องและทันท่วงที ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายอื่นสามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น พนักงานในองค์กร และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของไทยซึ่งเพียงพอจะปกป้องธุรกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย UCA ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเรื่องการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีอัตราลดลงอย่างรวดเร็วอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาค เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมาย UCA ในสหรัฐฯ จะทำให้สามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้อีก และประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะความเป็นประเทศคู่ค้าที่ดีทั้งต่อสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก. [code] Data : http://www.thairath.co.th/content/tech/300787 [/code]