บริษัทอาหารสหรัฐวางแผนเข้าถึงเด็กๆ ด้วยการบรรจุผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไว้ในเกมง่ายๆ และยั่วยวนใจบนแทบเล็ต และมือถือทัชสกรีน วิธีการใหม่นี้มีราคาถูกกว่าโฆษณาทางทีวีตอนเช้าวันเสาร์ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุ้มทุน เกมมือถือแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนโฆษณาในสหรัฐ ด้วยการเชื่อมให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักการตลาดและผู้บริโภครุ่นจิ๋วใกล้ชิดกันมากขึ้น เมลินดา แชมเปียน รองประธานฝ่ายการตลาดของ เจแอนด์เจ สแน็ค ฟูดส์ คอร์ป ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ผู้ผลิตขนมซูเปอร์เพรทเซล และเครื่องดื่มไอซี่ เผยว่า แอพพลิเคชั่นเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่เด็ก ถ้าทำให้เด็กพูดว่า “แม่คะ หนูอยากกินซูเปอร์เพรทเซล” ได้ แม่ของเด็กก็มีแนวโน้มจะซื้อขนมนี้ให้ลูกบ่อยขึ้น แอพพลิเคชั่นบางตัวได้รับความนิยมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักเล่นเกมรุ่นเยาว์หลายคนชอบแข่งกับเวลาเพื่อผสมแป้งสำหรับทำขนมปัง ในเกม “ซูเปอร์เพรทเซล แฟคตอรี” ซึ่งติดอันดับเกมยอดนิยมสำหรับเด็กที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ในไอโฟน แอพสโตร์ มาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ส่วนเกม “ไอซี่ เมคเกอร์” มีการดาวน์โหลดจากแอพสโตร์ ของแอ๊ปเปิ้ล มากกว่า 8 ล้านครั้งแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา “นี่แทบจะเป็นการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา” คริสติน วอลต์เจน แม่ของเด็กหญิงแอนนา วัย 4 ขวบ กล่าว และเสริมว่า ลูกทั้ง 3 คนของเธอชอบเล่นเกมบางเกมบนสมาร์ทโฟน วอลต์เจน ยอมรับว่า โฆษณาในรูปแบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสหรัฐ “ถ้าเกมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ เพลิดเพลินซัก 2-3 นาที ไม่ได้หมายความว่าพวกเด็กๆ จะกินเฉพาะคุกกี้ โด ไบทส์ และไม่สนใจผักเมื่อถึงเวลาอาหารค่ำ” ในอดีต ผู้ผลิตของขบเคี้ยว น้ำหวาน และลูกอม ถูกรัฐบาลและสาธารณชนกดดันในการทำโฆษณาสำหรับเด็กเพื่อเผยแพร่ผ่านทีวีและเว็บไซต์ แต่ปัจจุบัน พวกเขาค้นพบวิธีสื่อสารผ่านอุปกรณ์พกพา ซึ่งไม่ฝ่าฝืนกฎหมายและทดแทนโฆษณาแบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีใหม่นี้จะชักนำให้เกิดความต้องการและความภักดีต่อแบรนด์ได้ เด็กเล็กสามารถเข้าใจการใช้งานหน้าจอสัมผัสได้เป็นอย่างดีโดยสัญชาติญาณก่อนที่พวกเขาอ่านออกเขียนได้ ผลสำรวจของบริษัทวิจัยเอ็นพีดี กรุ๊ป เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เด็กอเมริกันวัย 4-5 ขวบใช้อุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือไอพอด ทัช คิดเป็นสัดส่วน 37% เมื่อเทียบ 25% ของเด็กในวัยเดียวกันที่ใช้โน้ตบุ๊ค โดยทั่วไปเกมในอุตสหากรรมอาหารประกอบด้วยกราฟฟิกพื้นฐาน และเป้าหมายที่ง่ายพอให้เด็กเล็กทำความเข้าใจได้ ในขณะเดียวกันมีการถกเถียงกันว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบของเกมที่มีต่อเด็ก ระหว่างพ่อแม่หรือรัฐบาล “ตอนนี้มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เด็กๆ เข้าถึงโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตได้น้อย เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา แต่ถ้าเมื่อใดที่พวกเขามีมือถืออยู่กับตัว นั่นหมายความพวกเขาสามารถเล่นเกมที่แฝงโฆษณาที่โรงเรียน และตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน” เจนนิเฟอร์ แฮร์ริส นักวิจัยการทำตลาดของศูนย์ เยล รัดด์ ให้ความเห็น ไม่มีกฎระเบียบของรัฐบาลกลางควบคุมวิธีการโฆษณาสำหรับเด็กบนอินเทอร์เน็ต นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้บริโภคบางคน ให้เหตุผลที่ต้องมีกฎควบคุมโฆษณาสำหรับเด็กบนอินเทอร์เน็ตว่า เป็นเพราะคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (เอฟซีซี) มีกฎที่ควบคุมโฆษณาสำหรับเด็กบนทีวีแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองหลายคนกล่าวว่า พวกเขาชอบที่จะเป็นคนตัดสินใจเลือกแอพให้กับลูกๆ เอง ส่วนบางคนบอกว่า ไม่ได้ให้ความสนใจว่าเด็กๆ จะใช้มือถือทำอะไรบ้าง “เกมไอซี่เป็นรูปแบบของการโฆษณาที่ดี และทำงานได้ผล” ดาร์เรน ออร์ติซ พ่อของหนุ่มน้อยวัย 11 ขวบ กล่าว พร้อมเสริมว่า เกมที่ว่านี้ไม่มีอันตราย และแน่นอนว่าดีกว่าเด็กๆ ไปเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง ซึ่งมีอยู่เกลื่อนตลาด บริษัทอาหารอย่าง คราฟต์ ฟู้ดส์ อิงค์ และริกลี่ย์ จูเนียร์ โค ช่วยบุกเบิกเกมออนไลน์บนเว็บไซต์ Candystand.com ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี 2540 ส่วนแมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง และมาร์ส อิงค์ ต่างก็เร่งพัฒนาเกมบนมือถือของตัวเอง เพื่อดึงดูดใจทั้งเด็กๆ และลูกค้าในวัยอื่นๆ โฆษกหญิงของริกลี่ย์ เผยว่า บริษัทเพิ่งเปิดตัวแอพสมาร์ทโฟนใหม่ “แคนดี้ สปอร์ตส์” สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยเกมที่ว่านี้ ผู้เล่นสามารถตีเบสบอลไปที่โลโก้สกิตเติลส์ เตะฟุตบอลอัดป้ายสตาร์เบิร์สต์ และยิงลูกบาสเกตบอลได้อย่างอิสระในสนามบาสเกตบอลเสมือนจริงที่มีป้ายโฆษณาไลฟ์ เซฟเวอร์ กัมมีส์ ขณะที่คราฟต์ แนะนำแอพไอแพด “ดินเนอร์ น็อต อาร์ต” ที่ผู้เล่นหั่นแมค แอนด์ ชีสเป็นชิ้นๆ เพื่อทำมะกะโรนี ตัวแทนคราฟต์ บอกว่า เกมตัวนี้ และโครงการเกมมือถืออื่นๆ มีวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก