แฉบิ๊กไอซีทีดองโครงการจัดหาเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของเครื่อง บินในสนามบินสุวรรณภูมิของกรมอุตุฯ ที่ไซแอนติฟิค รีเสิร์ช เสนอราคาต่ำสุด 142 ล้านบาท ไม่เสนอ รมว.ไอซีทีอนุมัติเซ็นสัญญา หากหมดปีงบประมาณต้องล่าช้าไปอีก 2-3 ปี ไม่สนความปลอดภัยการบิน ชีวิตและทรัพย์สินประชาชน วงในชี้เป็นฝีมือก๊วนเพื่อน วตท.โดยมีอัยการบางคนวางเกมให้ แหล่งข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าขณะนี้ได้เกิดการรับน้องใหม่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีทีป้ายแดง โดยข้าราชการระดับสูงของกระทรวงไอซีทีสั่งกรม อุตุนิยมวิทยาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการจัดหาเครื่องวัดลมเฉือนแนว ขึ้น-ลงของเครื่องบินและเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่กรมอุตุฯ จัดการประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ไซแอนติฟิค รีเสิร์ช เสนอราคาต่ำสุด 142 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 144 ล้านบาท โดยราคาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2554 เหลือเพียงแต่ขั้นตอนเสนอให้ รมว.ไอซีทีพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติให้มีการเซ็นสัญญาเท่านั้น “หากยังพอจำเหตุการณ์ที่สายการบินวัน ทูโกตกที่ภูเก็ตเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว มีการพูดกันมากว่าสภาพอากาศเลวร้าย เกิดลมเฉือนแนวขึ้นลงจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายมีคนเสียชีวิตจำนวน มาก เป็นเพราะไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งหากโครงการนี้ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ก็ต้องคืนงบแล้วตั้งงบประมาณทำโครงการใหม่ หมายถึงอีก 2-3 ปีข้างหน้า สนามบินสุวรรณภูมิจะไม่มีเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบินและ เครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ การที่บิ๊กไอซีทีสั่งระงับโครงการของกรมอุตุฯนี้เท่ากับเอาชีวิตและความ ปลอดภัย รวมทั้งชื่อเสียงของประเทศชาติมาเสี่ยง” โครงการดังกล่าวเคยถูกทวงถามให้เร่งดำเนินการตั้งแต่ปลายยุค ของนายจุติ ไกรฤกษ์ อดีต รมว.ไอซีที จนถึงยุคของ น.อ.อนุดิษฐ์ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นในการสนับสนุนความปลอดภัยด้านการบิน หากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ โดย เหตุผลที่โครงการนี้ไม่ถูกส่งถึงมือ รมว.ไอซีทีเป็นเพราะข้ออ้างว่ามีการร้องเรียนเกิดขึ้นจากบริษัท ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช กับบริษัท โอเชี่ยน ซอร์ส หากลำดับความเป็นมาโครงการนี้และเหตุผลต่างๆที่กรมอุตุฯชี้แจงถึง ความโปร่งใสสรุปได้ว่าโครงการนี้ กำหนดยื่นซองประกวดราคา 7 มิ.ย. 2554 มีผู้ยื่น 3 ราย คือ 1.บริษัท เอเซียเมท 2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไซแอนติฟิค รีเสิร์ช และ 3.บริษัท ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาพิจารณาแล้วพบว่า ไทยอีควิพเม้นต์ไม่ผ่านด้านเทคนิค บริษัทจึงได้อุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2554 ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วพบว่าคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น อธิบดีกรมอุตุฯจึงได้แจ้งผลให้บริษัทรับทราบและถือเป็นอันถึงที่สุดในชั้น ฝ่ายบริหาร ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. กรมอุตุฯ จึงได้เปิดประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไซแอนติฟิค รีเสิร์ช เสนอราคาต่ำสุด 142 ล้านบาทและสำนักงบประมาณได้พิจารณาเห็นชอบความเหมาะสมของราคาแล้วจึงได้ รายงานผลให้ปลัดกระทรวงไอซีทีเพื่อเสนอ รมว.ไอซีทีพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อในวันที่ 27 มิ.ย. 2554 ต่อมาไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ชได้มีหนังสืออุทธรณ์การดำเนินการโครงการนี้ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการ พัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) และส่งสำเนาไปยังปลัดไอซีที แต่เนื่องจากบริษัทไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้มีสิทธิเข้าเสนอราคา จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ กวพ.อ. ตามมติ กวพ.อ.ครั้งที่ 27/2550 ลงวันที่ 10 ม.ค. 2550 ประกอบตามนัยข้อ 10 (5) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2549 ส่วนกรณี โอเชี่ยล ซอร์ส ได้ร้องเรียนการดำเนินการในโครงการเดียวกันกับปลัดไอซีทีนั้น กรมอุตุฯ ได้รายงานให้ปลัดไอซีทีทราบว่าบริษัท โอเชี่ยล ซอร์ส ไม่ได้เข้าร่วมประกวดราคาด้วย ประกอบกับได้ฟ้องกรมอุตุฯ กับพวกรวม 5 คน ในการจัดซื้อที่ผ่านมา ต่อศาลปกครองตามคดีหมายเลขดำที่ 654/2554 ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้วรวมทั้งได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้ พิจารณาพิพากษาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ อส.0028.3/872 ลงวันที่ 27 ก.ค. 2554 “เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้คนที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้า เรียน วตท.รุ่นเดียวกัน โดยว่ากันว่าเกมที่ลากเรื่องอุทธรณ์ไปถึง กวพ.อ.ก็เป็นคำชี้แนะจากอัยการบางคนที่ชอบเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากไม่หยุดพฤติกรรมใช้กฎหมายแสวงประโยชน์ใส่ตัวอาจต้องมีการแฉเบื้องลึก กันบ้าง ทั้งๆ ที่โครงการนี้อธิบายได้ทุกขั้นตอน แต่ยังไม่วายโดนดึงเรื่องไว้ให้หมดปีงบประมาณ เพื่อหวังอะไรบางอย่าง ซึ่งเรื่องผลกระทบจากลมเฉือน คนที่เคยขับ F-16 อย่าง น.อ.อนุดิษฐ์ รมว.ไอซีทีน่าจะเข้าใจได้ดีและเห็นความสำคัญ” Company Related Link : MICT