มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และ บจก. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “นานาทัศนะ อสังหาฯ 55 จากผู้รู้ทุกสาขา” โดยเชิญตัวแทนจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นวิทยากร นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ผลพวงจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกังวลกับการสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต้องการมีบ้านสำรองเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปีนี้ลดลงเหลือ 5,018 ล้านบาท จาก 5,576 ล้านบาท ในปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่าตลาดรวมในต่างจังหวัดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,624 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,284 ล้านบาท และเติบโตในอัตราเดียวกันนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2558 และทำให้มูลค่าการสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในต่างจังหวัดมีมูลค่าใกล้เคียงกันที่ประมาณ 6,000 ล้านบาทในอนาคต “การสำรวจที่อยู่อาศัยสำรอง พบว่า ประชาชนต้องการบ้านเดี่ยวในต่างจังหวัดเป็นที่อยู่อาศัยสำรองมากที่สุดถึง 66% รองลงมา คือ คอนโดมิเนียมใน กทม. 16% ถัดมาคือบ้านจัดสรรในต่างจังหวัด 10% และท้ายสุด คือ คอนโดมิเนียมในต่างจังหวัด 8%” นายสิทธิพร กล่าวว่า นอกจากนี้ การสำรวจความจำเป็นของการสร้าง “บ้านยกพื้นสูง” พบว่ากลุ่มเป้าหมายเห็นว่ามีความจำเป็นมากและมากที่สุดรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 78% จำเป็นปานกลาง 17% และจำเป็นน้อยมาก 5% ทั้งนี้ การสร้างแบบยกพื้นสูงนั้น จะมีต้นทุนราคาบ้านเพิ่มขึ้นราว 3% โดยทางสมาคมได้ให้โจทย์ผู้ประกอบการไปพิจารณาเรื่องแบบบ้านแล้ว แนะจับมือสร้างความเข้มแข็ง ส่วนกรณีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านพอสมควร เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นรายกลางถึงรายย่อย จึงมักจะเสียเปรียบชาวต่างชาติในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและเงินทุน การจะหาเงินทุนเพื่อสู้กับชาวต่างชาติเองไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย ทางผู้ประกอบการจึงควรรวมตัวกันจับมือเป็นเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับการลงทุนของตัวเอง อาจออกมาในรูปแบบบริษัทร่วมทุน หรือแฟรนไชส์ เป็นต้น ด้านนายไพโรจน์ สุขจั่น นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การเปิดเออีซีนั้นถือเป็นโอกาสขยายตลาดและแรงงาน ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องที่น่ากังวลอยู่มาก ชาติอื่น เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว ล้วนพูดภาษาไทยได้บ้าง แต่ไทยพูดภาษาเขาไม่ได้ ขณะที่ด้านเงินทุนก็สู้หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ไม่ได้ ซึ่งสิงคโปร์ลงทุนต่อครั้งคิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท แต่ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น “ต้นทุนค่าแรงของเราสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สูงกว่าพม่าและเวียดนามเกือบ 3 เท่าตัว ส่งผลให้ราคาบ้านสูงกว่าประเทศอื่นๆ ตามไปด้วย ผู้ประกอบการจึงควรงดเว้นการเล่นกลยุทธ์ราคา และหันมาชูมาตรฐานคุณภาพอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองแทน” นายไพโรจน์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการจะมาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่มากนัก จากปัจจัยเรื่องค่าแรง หากมีก็จะเป็นการพัฒนาแนวสูงมากกว่าแนวราบ เผยรายเล็กต้องเจาะเฉพาะกลุ่ม นอกจากปัจจัยเรื่องเออีซีในต่างประเทศ ยังน่าเป็นห่วงสำหรับผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ที่กระทบต่อภาพรวมตลาดอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีพันธมิตรคอยช่วยเหลือ หรือสามารถออกหุ้นกู้ ระดมทุนมาใช้จ่ายก่อนได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยไม่สามารถทำได้ ต่อจากนี้รายเล็กและรายย่อย จึงควรปรับตัวหันมาสู้ในตลาดเฉพาะกลุ่ม เพราะเวทีกลายเป็นของรายใหญ่ไปแล้ว ส่วนสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ หลังผ่านมา 1 เดือนครึ่ง ยังไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาน้ำท่วม การขึ้นค่าแรงและวัสดุก่อสร้างเป็นปัจจัยลบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยคาดว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มดีขึ้นได้จากปัจจัยเดียวเท่านั้นคือกลางปีนี้น้ำไม่ท่วม ซึ่งจะทำให้ความต้องการซื้อที่เคยอั้นไว้จะพุ่งสูงจนทำให้ช่วงปลายปีสถานการณ์ดีขึ้นได้ มาเลเซียชี้ ภาษา อุปสรรคอสังหาฯ ไทย ด้านนายอิสกันดาร์ อิสมาอิล ประธานอำนวยการ อิสกันดาร์ แอสโซซิเอทส์ ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์มาเลเซีย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมาเลเซียน่าจะมีแนวโน้มมาลงทุนในประเทศไทยไม่มากนัก เนื่องจากประเทศไทยมีระบบโครงสร้างที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอีกหลายประเทศพูดภาษาอังกฤษได้ ขณะที่ไทยมีภาษาอังกฤษไม่ดีนัก ทำให้ติดต่อสื่อสารกันลำบาก และการจะให้ชาติอื่นเรียนรู้ภาษาไทยก็ทำได้ยากเช่นกัน เนื่องจากภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ซึ่งไม่มีลักษณะการออกเสียงแบบนี้ในภาษาอื่น “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมการออกแบบที่สวยงามมาก การออกแบบอาคารก็ดี การออกแบบสวนก็ดี ชอปปิงมอลล์ก็สวยงาม เราได้พาผู้ประกอบการมาดูงานที่ประเทศไทยหลายครั้ง และจะพามาดูอีกเรื่อยๆ”