นับตั้งแต่เฟซบุ๊ค ประกาศเปิดตัว “ไทม์ไลน์” และเริ่มทยอยบังคับให้ผู้ใช้ทุกคนเปลี่ยนมาเป็นหน้าจอแบบใหม่ ก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างมากมายมาโดยตลอด บ้างก็ให้เหตุผลว่า ไม่ชอบการแสดงผลแบบนี้ ดูแล้วทำให้เกิดความสับสน หรือบ้างก็ว่าไม่ชิน ต้องการใช้หน้าจอแบบเดิมมากกว่า ท่ามกลางกระแสยี้ของบรรดาคนรักเฟซบุ๊ค ล่าสุดโรงเรียนมัธยม 4อี ยิมเนเซียม ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระเบิดไอเดียเก๋ประยุกต์คุณสมบัติอย่างไทม์ไลน์ มาใช้ในการเรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญในห้องเรียนประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ตัวแทนโรงเรียน 4อี ยิมเนเซียม เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจว่า มาจากประโยชน์ของไทม์ไลน์ ในแง่การใช้งานง่าย ซึ่งทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คสามารถดูเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในชีวิตของตัวเองหรือเพื่อนฝูงได้ในเวลารวดเร็ว ตัวแทนคนเดิมกล่าวว่า นอกจากจะเน้นเรื่องเนื้อหาแล้ว ด้วยประโยชน์ของไทม์ไลน์ ห้องเรียนดังกล่าวยังเน้นการลำดับเหตุการณ์ ที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวโน้มรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความสำเร็จในอดีต นักเรียนสามารถโพสต์ข้อความ รวมถึงลิงค์จากสื่อประเภทอื่น และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้น บนหน้าเพจของห้องเรียนประวัติศาสตร์ได้ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า นับเป็นมิติใหม่ของการเรียนการสอนด้วยการนำเทคโนโลยีสื่อสังคม มาประยุกต์ใช้ในแวดวงการศึกษา ทั้งนี้ มีรายงานว่า โรงเรียนหลายแห่งในต่างประเทศ เริ่มนำไทม์ไลน์ของเฟซบุ๊คมาใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนกันมากขึ้น เพราะสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ และทำความเข้าใจได้ง่าย ขณะที่อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของไทม์ไลน์ คือ การที่องค์กรอัลไซเมอร์ ดีซีส อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาขอให้ผู้คนสละไทม์ไลน์ของตัวเองบนเฟซบุ๊ค เพื่อสนับสนุนกิจกรรมวันอัลไซเมอร์โลกเมื่อเดือนที่ผ่านมา ด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ที่ทำให้เหล่าสาวกของเฟซบุ๊คได้สัมผัสประสบการณ์ที่ต้องสูญเสียความทรงจำเป็นเวลา 1 วัน แอพพลิเคชั่นดังกล่าวลบทุกรายละเอียดออกจากไทม์ไลน์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ สถานะ วิดีโอ รายชื่อเพื่อน และข้อมูลอื่นๆ ทั้งหมด เป็นการชั่วคราวตลอด 1 วัน และขึ้นข้อความ “ลองจินตนาการถึงชีวิตที่ต้องสูญเสียความทรงจำ และนี่คือสิ่งที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ 36 ล้านคนต้องเจอ” ไว้แทน ตัวแทนองค์กรที่รณรงค์เรื่องโรคอัลไซเมอร์แห่งนี้อธิบายว่า แอพดังกล่าวลบข้อมูลบนเฟซบุ๊คเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และข้อมูลทุกอย่างก็กลับคืนมาเป็นเหมือนเดิมในวันรุ่งขึ้น นักวิเคราะห์ มองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการนำโซเชียลเน็ตเวิร์คมาใช้ในแคมเปญที่มุ่งสร้างความรับรู้ในรูปแบบที่แปลกใหม่ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับวันสำคัญอย่างวันอัลไซเมอร์โลกได้อย่างลงตัวอีกด้วย คุณสมบัติไทม์ไลน์ของเฟซบุ๊คไม่เป็นที่ถูกใจของเหล่าสาวกมากนัก ผลสำรวจของเว็บรูท บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและมัลแวร์ พบว่า ผู้บริโภค 88% เป็นกังวลเกี่ยวกับข้อมูลของตัวเองบนโปรไฟล์ในรูปแบบไทม์ไลน์ ที่เจ้าตลาดโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ เปิดตัวไปเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เว็บรูทพบด้วยว่า แม้จะกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว แต่เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ ไม่ได้ทำอะไรกับโปรไฟล์ของตัวเองเลยเมื่อถูกบังคับให้เปลี่ยนมาใช้ไทม์ไลน์ นักวิจัยพบว่า ราว 1ใน 3 ของผู้ใช้เฟซบุ๊คที่เป็นกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว กำหนดค่าใหม่ว่าใครสามารถเห็นกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองที่แสดงบนไทม์ไลน์ ขณะที่ 17% ลบสเตตัสอัพเดท รูปถ่าย และเนื้อหาทิ้ง โดยสมาชิกเฟซบุ๊คในสหรัฐให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการให้นายจ้างเห็น” ไทม์ไลน์เป็นการแสดงหน้าจอแบบใหม่ล่าสุดของเฟซบุ๊ค มีการจัดเรียงตามลำดับเหตุการณ์ วัน เวลา ว่าแต่ละปี แต่ละเดือน เจ้าของเฟซบุ๊คมีกิจกรรมอะไรบ้าง ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่มีเป็นจำนวนมากของหน้าเพจได้ง่ายขึ้น โดยมีคุณสมบัติสำคัญ อย่างเช่น ภาพปก