หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ผ่านไปเกือบครบ 1 ปี ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ที่มีโรงงานผลิตสำคัญในไทย 3 รายหลัก คือ ซีเกท เวสเทิร์น ดิจิตอล และโตชิบา เริ่มขยับแผนลงทุนอีกครั้งซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนความเชื่อมั่นได้ดีว่าไทยยังได้รับความเชื่อมั่นเป็นฐานผลิตหลักให้กับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกได้อีกนาน ภาพรวมของตลาดฮาร์ดดิสก์โลกก่อนน้ำท่วม “ดับบลิวดี” ครองส่วนแบ่ง 30% “ซีเกท” 30% “ฮิตาชิ” 18% “โตชิบา”11% และ “ซัมซุง” ราว 10% ก่อนที่อีกไม่นานนี้ “ดับบลิวดี” จะรวมกับ “ฮิตาชิ” และ “ฟูจิตสึ” ขายกิจการให้ “โตชิบา” ขณะที่ “ซีเกท” เข้าซื้อกิจการของ “ซัมซุง” ทำให้วงการฮาร์ดดิสก์โลกจะเหลือผู้ผลิตรายหลักๆ 3 แบรนด์ คือ ดับบลิวดี ซีเกท และโตชิบา ซึ่งทั้งหมดใช้ไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ส่งออกให้ตลาดโลกราว 40% และมียอดการส่งออกกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี “บีโอไอ” จัดแพ็คเกจส่งเสริมสูงสุด นางอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนระดับทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันบีโอไอยกให้อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2547 โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับบริษัทที่ลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง คือ ระดับ 15,000 ล้านบาทใน 5 ปี หรือ 30,000 ล้านบาทใน 8 ปี เช่น ซีเกทที่ลงทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาทแล้วจนถึงปี 2555 “การลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ยังเติบโต แสดงให้เห็นว่าไทยยังเป็นโลเคชันสำคัญสำหรับการผลิตชิ้นส่วนหลัก ไม่ใช่แต่ชิ้นส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งบีโอไอก็ให้แพ็คเกจส่งเสริมในระดับสูงสุดที่มีเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน เช่น ลดหย่อนภาษี 5 ปี” นางอัจฉรินทร์กล่าว ลงทุนต่อเนื่องรับดีมานด์พุ่ง นายเดฟ มอสเล่ย์ รองประธานบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า ซีเกทยังคงนโยบายลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกับโรงงานเดิมที่มีอยู่ในไทย 2 แห่ง คือ โรงงานเทพารักษ์และโรงงานโคราช โดยโรงงาน “โคราช” ผลิตสไลเดอร์ ชุดหัวอ่านและบันทึกข้อมูล ฮาร์ดดิสก์สำเร็จรูป ส่วนโรงงาน “เทพารักษ์” ผลิตหัวอ่านและบันทึกข้อมูล ซึ่งถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนการส่งออกเฉพาะโรงงานที่โคราชราว 20% จากโรงงานทั้งหมด 11 แห่งทั่วโลก ไตรมาสที่ผ่านมา (1 มี.ค.-30 มิ.ย. 2555) ซีเกทมียอดผลิตฮาร์ดดิสก์ออกสู่ตลาดโลก 66 ล้านชิ้น ขณะที่โรงงานโคราชผลิตฮาร์ดดิสก์ได้ 60 ล้านชิ้น “ความต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งจากดิจิทัล คอนเทนท์ และตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ก็คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมการเก็บข้อมูลก็ยังโตได้อยู่” นายมอสเล่ย์กล่าว พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พร้อมกับระบุว่า ไทยประสบวิกฤติน้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี การดำเนินงานของซีเกทได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากปัญหาซัพพลายเชน แต่ทำให้บริษัทมีโอกาสเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ซัพพลาย โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน เช่น การลงทุนร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อทำข้อตกลงด้านราคาและการซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า รวมทั้งการเข้าไปหารือกับรัฐบาลไทยก็หามาตรการป้องกันในระยะยาว แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ แต่จะลงทุนขยายการผลิตโรงงานเดิมที่มีอยู่ในไทยราว 3,000-6,000 ล้านบาท (100-200 ล้านดอลลาร์) ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าได้ราว 20-25% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558 อย่างไรก็ตาม ปีนี้ซีเกทได้จัดงาน “ซีเกท ซัพพลายเออร์เดย์” สำหรับซัพพลายเออร์กว่า 300 คน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นการกลับมาจัดอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2550 เพื่อสร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจ และสะท้อนการเติบโตของอุตสาหกรรม สถานการณ์ปกติราคาไม่ปกติ นางสาวมาร์กาเร็ต โคห์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภาคพื้นเอเชียใต้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (เอส.อี.เอเชีย) พีทีอี จำกัด (ดับบลิวดี) กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์การผลิตฮาร์ดดิสก์ของบริษัทเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว รวมทั้งความคืบหน้าการซื้อขายธุรกิจระหว่างดับบลิวดี และฮิตาชิ ตลอดจนการขายสินทรัพย์ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วให้โตชิบาตามเงื่อนไขป้องกันการผูกขาดตลาดของสภาพยุโรปก็ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดับบลิวดีส่งมอบฮาร์ดดิสก์เข้าสู่ตลาดได้ 44.1 ล้านชิ้นจากไตรมาส 4 ปีก่อนหน้ามียอดส่งมอบ 28.5 ล้านชิ้น ไตรมาส 3 ปี 2554 ส่งมอบได้ 57.8 ล้านชิ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรับว่า ราคาเฉลี่ยฮาร์ดดิสก์ของบริษัทที่ปรับตัวขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมโรงงานอาจจะกลับมาอยู่ราคาเดิมก่อนน้ำท่วมไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งเทคโนโลยีใหม่และความต้องการความจุฮาร์ดดิสก์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องของผู้ใช้งานทำให้แนวโน้มการซื้อฮาร์ดดิสก์จะซื้อรุ่นที่ความจุสูงขึ้น ซึ่งราคาก็เพิ่มขึ้นตามด้วย