ใครที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ และเทคโนโลยีอวกาศต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรากำลังจะพาคุณมารู้จักอีกหนึ่งภารกิจครั้งสำคัญจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง “มูน สไนเปอร์” ซึ่งเป็นการส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าเป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่สามารถส่งยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ ภารกิจที่ถูกเรียกว่ามูน สไนเปอร์ (Moon Sniper) โดยใช้ยานอวกาศ SLIM หรือ Smart Lander for Investigating Moon ซึ่งมีจุดเด่นที่ใช้งบประมาณน้อยเพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,561 ล้านบาท แต่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำในการลงจอด
-
ยานอวกาศ SLIM มีลักษณะเป็นยานอวกาศขนาดความกว้าง 2.4 เมตร ยาว 2.7 เมตร และสูง 1.7 เมตร มีรูปทรงหลายเหลี่ยม ภายนอกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้แบตเตอรีลิเธียมเก็บพลังงานไฟฟ้า ตัวยานอวกาศถูกพัฒนาโดยสถาบันอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่น ๆ ทั่วประเทศ ดำเนินการพัฒนาและตรวจสอบ
-
แม้ว่าจะไม่มีรถสำรวจใช้วิ่งบนดวงจันทร์แต่ยานอวกาศ SLIM บรรทุกหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็กจำนวน 2 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์ LEV-1 พัฒนาโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เคลื่อนที่บนดวงจันทร์ด้วยการกระโดด พร้อมกับถ่ายภาพมุมกว้างของพื้นผิวดวงจันทร์ อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีและเครื่องวัดมุมเอียงของพื้นที่ หุ่นยนต์อีกตัวชื่อว่า LEV-2 หรือ Sora-Q พัฒนาโดยบริษัท โทมี (Tomy), โซนี (Sony) และมหาวิทยาลัยโดชิชา (Doshisha University) มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมปรับเปลี่ยนรูปร่างได้น้ำหนักเพียง 250 กรัม สามารถวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ในระยะสั้น ๆ
-
ยานอวกาศ SLIM ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XRISM กล้องโทรทรรศน์สำรวจรังสีเอ็กซ์คอสมิก (Cosmic X-ray) โดยใช้บริการของจรวด H-llA พัฒนาโดยบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) จากฐานปล่อยจรวดบริเวณศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ ชายฝั่งเกาะทาเนกาชิมะ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น
-
กำหนดการของยานอวกาศ SLIM ถูกวางเอาไว้ให้ลงจอดบนดวงจันทร์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ในบริเวณที่เรียกว่า Mare Nectaris ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งบนดวงจันทร์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 101,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนสาเหตุที่ยานอวกาศ SLIM ใช้เวลาเดินทางไปดวงจันทร์นานกว่า 6 เดือน เนื่องจากต้องการประหยัดเชื้อเพลิงและใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นตัวช่วยส่งยานอวกาศ
-
พื้นที่ในบริเวณ Mare Nactaris บนดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่แต่ยานอวกาศ SLIM ถูกกำหนดให้ลงจอดและสำรวจพื้นที่กว้างประมาณ 100 เมตร จากจุดลงจอดเท่านั้น การลงจอดที่แม่นยำและการประมวลผลภาพ วิเคราะห์พื้นผิว และแสงขั้นสูง เพื่อค้นหาเบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดวงจันทร์ เป็นวัตถุประสงค์หลักของภารกิจยานอวกาศ SLIM จากการเปิดเผยของฮิโรชิ ยามาคาวะ ประธานองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
-
ทั้งนี้ญี่ปุ่นเคยประสบกับความล้มเหลวในภารกิจนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์มาแล้ว 2 ภารกิจ ประกอบด้วย ยานอวกาศ Hakuto-R ในเดือนธันวาคมและ ยานอวกาศ OMOTENASHI ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ก่อนหน้านี้มีเพียง 4 ประเทศด้วยกันที่เคยนำยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ คือ สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา จีนและชาติล่าสุดได้แก่ อินเดียในภารกิจจันทรายาน-3
และนี่ก็คือโปรเจ็คต์ มูน สไนเปอร์ จากประเทศญี่ปุ่นที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคอเทคโนโลยีอวกาศทุกคน และหากมีความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับโปรเจ็คต์นี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที