คนที่ชื่นชอบงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เราจะพามารู้จัก อะลูมิเนียมล่องหนที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อลูมิเนียมออกซิไนไตรด์ (Aluminium oxynitride)” หรือเรียกย่อ ๆ ว่าอะลอน (ALON) ซึ่งมันจะมีความน่าสนใจอย่างไร ใครอยากรู้ ตามมาดูกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับอะลูมิเนียมล่องหนได้ดังนี้
- อะลูมิเนียมล่องหนเป็นการรวมตัวกันของอะลูมิเนียม (Aluminum), ออกซิเจน (Oxygen) และไนโตรเจน (Nitrogen) เกิดเป็นวัสดุใหม่ที่ให้ความโปร่งใสอยู่ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 80 เปอร์เซ็นต์ (วัดในช่วงคลื่นใกล้รังสีอินฟราเรด) สามารถมองทะลุผ่านได้คล้ายแก้วทั่วไป แต่แข็งแรงกว่าแก้วซิลิกา (Silica glass) ถึง 4 เท่า และแข็งเทียบเท่า 85 เปอร์เซ็นต์ของแซปไฟร์ (Sapphire) อีกทั้งยังมีจุดหลอมเหลวสูงถึง 2150 องศาเซลเซียส จึงทำให้อะลอนเป็นวัสดุที่ทนทานต่อทั้งแรงกระแทกและความร้อน
- ด้วยคุณสมบัติของมัน จึงมีการนำไปใช้เป็นกระจกของยานอวกาศ และกระจกของโมดูลบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) เนื่องจากสถานีอวกาศมักถูกพุ่งชนโดยขยะอวกาศขนาดเล็กอยู่บ่อยครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขยะอวกาศที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกเป็นวัตถุที่โคจรอยู่ด้วยความเร็วสูง ทำให้แม้มีขนาดเล็กมากก็มีความรุนแรงเทียบเท่ากับกระสุนปืน
- แน่นอนว่าหากมันกันการพุ่งชนของขยะอวกาศขนาดเล็กได้ มันก็ต้องสามารถกันกระสุนได้เช่นกัน จึงมีบริษัทเอกชนนำมาทำกระจกรถกันกระสุน กระจกนิรภัยกันกระสุน ไปจนถึงกระทั่งใช้ในการทหาร
- ในส่วนของกระบวนการผลิต ผงอะลอนจะต้องถูกบีบอัดด้วยน้ำหนักกว่า 15,000 ปอนด์ต่อนิ้ว หรือประมาณ 6,800 กิโลกรัมต่อนิ้ว ด้วยแม่พิมพ์ยาง หลังจากนั้นนำไปจุ่มลงในไฮดรอลิกเหลว (Hydraulic fluid) นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังต้องเข้มงวดมาก เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน จึงทำให้อะลอนเป็นวัสดุที่มีราคาแพง
- ก่อนหน้านี้อะลอนเคยปรากฏในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไซไฟเรื่องสตาร์เทรค 4 เดอะวอยเอเจอร์ โฮม (Star Trek IV: The Voyage Home) ในปี 1986 แต่ในตอนนั้น วัสดุอย่างอะลอนยังเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น
และนี่ก็คืออะลูมิเนียมล่องหนที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจสายวัสดุศาสตร์กันทุกคน และหากมีงานวิจัยด้านนี้ใหม่ๆ ที่ได้ผลลัพธ์น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที