เทคโนโลยีด้านการอวกาศของจีนพัฒนาก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ล่าสุดพวกเขากำลังจะมีจรวดรุ่นใหม่สำหรับใช้ไปดวงจันทร์เป็นของตัวเอง ซึ่งจรวดตัวนี้มีชื่อว่า Long March 10 ที่จีนมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเองโดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนานับ 10 ปี รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับจรวด Long March 10 ได้ดังนี้
- ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รอง ยี่ (Rong Yi) ผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดจากสถาบันเทคโนโลยียานพาหนะปล่อยตัวแห่งประเทศจีน (China Academy of Launch Vehicle Technology) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อทางการของประเทศจีนว่า ทางสถาบันกำลังพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ชื่อ “จรวดลองมาร์ช 10 (Long March 10)” ซึ่งจะใช้ในภารกิจส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ของประเทศจีน และคาดว่าจรวดจะเริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 2027
-
โดยตัวจรวดมีความสูงประมาณ 295 ฟุต หรือ 90 เมตร ตัวจรวดประกอบไปด้วยสเตจ 1 , สเตจ 2 และสเตจ 3 โดยตัวบูสเตอร์และสเตจทั้ง 3 สเตจของจรวดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 ฟุต หรือ 5 เมตร ในส่วนของมวลขณะบินขึ้นอยู่ที่ 463,000 ปอนด์ หรือ 210,000 กิโลกรัม สามารถบรรทุกน้ำหนัก 59,500 ปอนด์ หรือ 27,000 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบหนีออกตัวอยู่บนสุดของจรวด เพื่อให้ยานอวกาศหรือดาวเทียมที่ถูกบรรทุกอยู่ด้านบนสุดของจรวด สามารถหนีออกตัวจากจรวดได้ ในกรณีที่จรวดมีปัญหา
-
ส่วนเครื่องยนต์ที่จะนำมาใช้คือเครื่องยนต์อ็อตไฟย์ (Hotfire) ที่ผ่านการทดสอบมาแล้ว 6 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งมันเป็นเครื่องยนต์น้ำมันก๊าด-ออกซิเจนเหลวที่ให้แรงขับได้ แรงขับได้ 130 ตัน
-
ย้อนกลับไปในปี 2018 สถาบันเทคโนโลยียานพาหนะปล่อยตัวแห่งประเทศจีนได้ประกาศในงานนิทรรศการการบินและอวกาศนานาชาติของจีนครั้งที่ 12 (12th China International Aviation & Aerospace Exhibition) ได้ประกาศว่าจะทำการพัฒนาจรวดที่มีความจุวงโคจรดวงจันทร์สูงถึง 30 ตัน ซึ่งเป็นจรวดที่สามารถส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้
-
ต่อมา จรวดลองมาร์ช 10 ได้เปิดตัวสู่สายตาสาธารณะชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ในขณะนั้นมันยังเป็นเพียงโมเดลจำลองที่จัดแสดงในงานนิทรรศการ “30 ปี การบินอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน (30 Years of China’s Manned Spaceflight)” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน
และนี่ก็คือจรวด Long March 10 อีกหนึ่งความภาคภูมิใจในเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีนที่เราอยากนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอไซไฟอวกาศกันทุกคน ส่วนจรวดรุ่นนี้จะพาจีนไปยังดวงจันทร์ได้จริงหรือไม่ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป