สวัสดีคอยานยนต์ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าบอกเลยว่าต้องไม่พลาด เพราะครั้งนี้เรามีข่าวที่น่าตื่นเต้นจะมาแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดรถ EV สัญชาติเยอรมันวิ่งได้ไกล 2,573 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบต 1 รอบ ถือเป็นการทำลายสถิติโลกอีกครั้ง ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มักมีปัญหาเรื่องการวิ่งได้ไม่ไกลนักต่อการชาร์จ 1 รอบ วิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเพิ่มขนาดแบตเตอรี่ หรือการลดน้ำหนักรถ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
-
ด้วยเหตุนี้ทีมนักศึกษาทียูฟาสต์อีโค่ (TUfast Eco) จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก (TUM) จึงได้ริเริ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจนมันกลายมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด ด้วยระยะทางทดสอบ 2,573.79 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 รอบ ทำลายสถิติเดิมที่กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด (Guinness World Record) เคยบันทึกไว้คือ 1,608 กิโลเมตร
-
ที่น่าสนใจคือใช้เวลาทำลายสถิติเดิมที่ว่าภายในระยะเวลา 4 วัน แต่เนื่องจากแบตเตอรี่ยังไม่หมด ทีมจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ จนสิ้นสุดการเดินทางใช้เวลาไปทั้งหมด 6 วัน กับสถิติ 2,573.79 กิโลเมตรตามที่ได้กล่าวไป
-
รถยนต์ไฟฟ้าของทีม TUfast Eco ชื่อเอ็มยูซี-022 (muc022) ใช้ไฟฟ้าเพียง 0.6 กิโลวัตต์ชั่วโมงในการขับ 100 กิโลเมตร ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่สุดในปัจจุบันใช้พลังงานประมาณ 13 กิโลวัตต์ชั่วโมงในการขับ 100 กิโลเมตร นับว่าต่างกันมากเลยทีเดียว
-
โดยปัจจัยหลักที่ทีมพยายามพัฒนาคือการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ และการทำให้น้ำหนักรถเบาลงเพื่อให้เดินทางได้ไกลขึ้น โดยใช้วัสดุคอมโพสิตคาร์บอนไฟเบอร์ที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการบิน ยานอวกาศ การก่อสร้าง ฯลฯ มาทำโครงรถแบบโมโนค็อก (Monocoque) มีน้ำหนักเพียง 18.6 กิโลกรัม และเมื่อรวมทั้งตัวรถจะมีน้ำหนักประมาณ 170 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร (Permanent-magnet synchronous motor) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสามารถควบคุมตำแหน่งและความเร็วได้อย่างแม่นยำ ด้วยกำลังขับ 400 วัตต์ และในตัวรถติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มีกำลังไฟฟ้า 15.5 กิโลวัตต์
-
อีกหนึ่งปัจจัยหลักคือออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในประหยัดแบตเตอรี่ของรถ โดย muc022 รุ่น 1 ที่นั่งมีขนาดความยาว 340 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร และสูง 100 เซนติเมตร มีค่าสัมประสิทธิ์การลาก (Drag coefficient: Cw) 0.159 ถือว่าต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไปที่มีค่า Cw อยู่ในช่วง 0.20 ตัวเลขที่น้อยลงนี้เป็นผลมาจากการออกแบบตัวถังด้านหลังใหม่และช่องล้อหน้าแบบสเกิร์ต ซึ่งยิ่งค่า Cw ต่ำ ตัวรถก็จะยิ่งคล่องตัวมากขึ้นตามกระแสลม
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้าที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะสร้างความตื่นเต้นให้กับคอยานยนต์กันทุกคน สำหรับสถิติโลกใหม่นี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนกำหนดคมนาคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต