ในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) นา’เรเน เจมส์ รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มซอฟต์แวร์แอนด์เซอร์วิสกรุ๊ปของอินเทล กล่าวถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบประมวลผลแบบโปร่งใส (Transparent Computing) ที่เป็นแนวคิดที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยแนวทางการพัฒนาในรูปแบบ “เปิด” เท่านั้น โดยการให้เหล่าบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ เขียนโค้ดคำสั่งที่สามารถใช้งานข้ามระบบ และใช้ได้ในอุปกรณ์หลากชนิดได้ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวยังจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และบรรเทาปัญหาทางด้านเทคนิคที่เหล่านักพัฒนาต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปฯ บ.อินเทล กล่าวว่า ระบบประมวลผลแบบโปร่งใสจะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำงานข้ามระบบได้ โดยที่ยังคงประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้อย่างต่อเนื่องปัญหาที่ผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจต่างๆกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ มีอุปกรณ์ใช้งานหลายระบบแต่ไม่สามารถนำอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาใช้งานร่วมกันได้ ทั้งนี้ เราไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะการทำงานในระบบโมบายล์ระบบคลาวด์ หรือพีซีเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การทำให้องค์ประกอบทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะเป็นการทำงานข้ามแพลตฟอร์มก็ตาม โดยที่ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานในระบบและโครงสร้างชนิดใดก็ได้ นางเรเน กล่าวต่อว่า นักพัฒนาที่นำเอาแนวทางเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ จึงจะถือเป็นการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในยุคปัจจุบันได้มากที่สุด ในปัจจุบันนักพัฒนาซอฟต์แวร์มักจะถูกกำหนด และตีกรอบด้วยกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด แนวทางการสร้างนวัตกรรม หรือความสามารถในการทำกำไร อย่างไรก็ตามอินเทลยังคงมุ่งมั่นที่จะคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่สู่ตลาด พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบเปิด โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม ระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีต้นทุนต่ำอีกด้วย รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปฯ บ.อินเทล กล่าวอีกว่า แม้ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์จะพยายามยืนกรานที่จะเขียนโค้ดเพียงครั้งเดียวเพื่อการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม แต่ผู้ดูแลแพลตฟอร์มต่างๆกลับไม่เห็นด้วยกับการทำงานในรูปแบบดังกล่าว ทั้งนี้อินเทลเชื่อว่าอีกหนึ่งทางออกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้แก่การใช้ HTML5 ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในหลายๆด้าน โดยไม่จำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างความสามารถในการทำกำไร กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดและแนวทางการสร้างนวัตกรรมนั้นๆ นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายโอนข้อมูล แอพพลิเคชั่น รวมถึงอัตลักษณ์ส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ระหว่างระบบปฏิบัติการหรืออุปกรณ์ต่างชนิดกัน ในการบรรยาย นางเรเน กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของ HTML5 และมาตรฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักพัฒนาทั้งหลายทำงานในรูปแบบเปิดเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพชั้นสูงต่อไป และเพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมย์ในการพัฒนา HTML5 และ JavaScriptนอกจากนี้ เรเนยังได้แถลงถึงโครงการความร่วมมือระหว่างอินเทลและโมซิลลา (Mozilla)ซึ่งจะนำเอาเทคโนโลยี “ริเวอร์ เทล” (River Tail) มาใช้ในรูปแบบของ “พลัก-อิน” (Plug-in)และจะพัฒนาต่อไปเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเว็บเบราว์เซอร์ ไฟร์ฟ็อกซ์ เพื่อให้ตอบโจทย์รูปแบบการประมวลผลข้อมูลแบบคู่ขนานสำหรับเว็บแอพพลิเคชั่นในปี 2556 ต่อไป นางเรเนยังได้เปิดตัว “อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ โซน” (Intel Developer Zone) ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับกลุ่มธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือ ชุมชน และแหล่งข้อมูล สำหรับการมีส่วนร่วมในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญเงื่อนไขและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น การคิดริเริ่มรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ความคาดหวังเกี่ยวกับการใช้งานผ่านหน้าจอระบบสัมผัส อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการเข้าถึงระบบคลาวด์ เป็นต้น โครงการ อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ โซน นี้ มุ่งเน้นเพื่อการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของนักพัฒนาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด รวมทั้งผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการทำงานและพัฒนาแอพพลิเคชั่นข้ามแพลตฟอร์ม รวมถึงการให้คำแนะนำนักพัฒนาเกี่ยวกับการใช้งาน HTML5 ผ่านApple iOS, Google Android, Microsoft Windows และ Tizer นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสทางการขายและช่องทางการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ในระดับโลกจะมีให้ ผ่านศูนย์ร้านค้า Intel AppUp เครือข่ายพันธมิตรของอินเทล ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการทำงานบนอุปกรณ์ อัลตร้าบุ๊กแทบเบล็ต และพีซีได้อีกด้วย.