แม้จะตั้งหัวข้อชวนโดนตีหัว แต่ผู้เขียนเชื่อว่าการชวนผู้คนตั้งคำถามเพื่อคิดถึงมุมมองอีกแง่หนึ่งของสิ่งที่มีอยู่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะทุกอย่างมีสองด้านรวมถึงเทศกาลลอยกระทงที่เพิ่งผ่านพ้นไปด้วย หลายคนยังเชื่อว่าเรามีประเพณีลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคา แต่คุณรู้ไหมว่าในหนึ่งปีสถิติขยะจากกระทงมีจำนวนเท่าใด ซึ่งบอกได้เลยแม้ไม่รู้จำนวนตัวเลขที่แน่นอนว่ามหาศาล และผลกระทบไม่ใช่แค่จำนวนขยะตกค้างเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย
วัสดุธรรมชาติผสมกับวัสดุสังเคราะห์
ทุกวันนี้วัสดุหลักที่ใช้ทำกระทงคือใบตองและดอกไม้ประดับต่าง ๆ โดยภาพรวมแล้วก็ดูเป็นธรรมชาติดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีตะปูหรือแม็กเย็บกระดาษที่ใช้ยึดส่วนต่าง ๆ ของกระทงให้ติดกันด้วย ไหนจะธูป เทียน หรือบางทีก็มีไฟเย็นแถมมาอีก ดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นของที่ควรอยู่ในแม่น้ำเลย เมื่อกระทงเพิ่งพ้นจากมือเราไปทุกอย่างดูสวยงามลอยนิ่งอยู่เหนือแม่น้ำ แต่เพียงข้ามคืนเท่านั้นกระทงและส่วนประกอบต่าง ๆ ก็กลายเป็นขยะทันที แล้วลองจินตนาการว่ากระทงไม่ได้มีใบเดียว ส่วนประกอบที่กล่าวถึงไปทั้งหมดก็ยิ่งมีปริมาณมหาศาล ในขณะเดียวกันถึงจะมีการรณรงค์งดใช้โฟมก็ยังมีกระทงที่ฐานทำจากโฟมอยู่ดีแม้ว่าจะลดจำนวนลงแล้วก็ตาม หากเรายังลอยกระทงอยู่ทุกปีโดยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมขยะเหล่านี้ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณอีกมหาศาลจนแหล่งน้ำปนเปื้อน อาจไปถึงระดับที่ยากต่อการบำบัด
ย่อยได้แต่ช่วยเร่งน้ำเน่า
ถึงเราจะหลีกเลี่ยงมาใช้กระทงขนมปังหรือจำพวกขนมปลา แต่คุณรู้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวช่วยให้น้ำเน่าเสียเร็วยิ่งกว่าเดิม เพราะปลาไม่ได้หากินตอนกลางคืน กว่าจะถึงเช้าก็เปื่อยสลายกลายเป็นสารอินทรีย์ในน้ำเสียแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นขนมปังหรือใบตองก็มีผลทำให้น้ำเน่าเสียได้เพราะปริมาณที่มากจนยากต่อการกำจัด ส่วนกระทงน้ำแข็งที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นถ้ามีมากเกินกปก็จะส่งผลต่ออุณหภูมิตามธรรมชาติของน้ำและระบบนิเวศได้
อุดตัน น้ำท่วม เสียงบประมาณจัดการ
กระทงบางส่วนเมื่อลอยไปแล้วสามารถไปอุดตันทางระบายน้ำได้เพราะไปกองรวมกันในจุดเดียว เมื่อทางระบายน้ำอุดตันก็ส่งผลให้น้ำท่วมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการจัดการกับขยะกระทงจำเป้นต้องใช้ทั้งคน เวลา และงบประมาณ ซึ่งทุกวันนี้งบประมาณในการแก้ไขฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ถ้าเรายังไม่มีวิธีจัดการกับขยะจากกระทงที่ดีพอ เราก็จะยังฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควรเช่นกัน
ข้อดีของการมีวันลอยกระทง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เทศกาลลอยกระทงก็นับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เพราะเราไม่ได้มาถึงแม่น้ำหรือวัดเพื่อลอยกระทงเท่านั้น แต่เรายังมาเดินเล่นหาอะไรกิน ดูงานประกวดนางนพมาศ และถ่ายรูปกระทงสวย ๆ อลังการจากงานประกวดกระทงอัปเดตลงโซเชียลอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่คนในครอบครัวและคู่รักได้ออกมาใช้เวลาร่วมกัน ดังนั้น ถ้ามองในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจแล้วถือว่าลอยกระทงเป็นเทศกาลที่ควรมีอยู่ แต่ต้องหาทางออกที่ลงตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยนั่นเอง
ข้อเสนอ(ที่อยาก)แนะ
สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนแปลงกันอย่างจริงจังคือทัศนคติที่ผู้คนมีต่อวันลอยกระทงและรูปแบบที่เทศกาลลอยกระทงควรจะเป็น เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่าการขอขมาแม่น้ำที่ดีที่สุดคือการไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ลงในแม่น้ำ รวมถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพราะน้ำที่เราใช้มาจากน้ำของพระแม่คงคาทั้งสิ้น ควรออกกฎหมายห้ามลอยกระทงในแห่งน้ำสาธารณะ อนุญาตให้ลอยได้เฉพาะบริเวณแหล่งน้ำปิดที่จัดไว้ให้เท่านั้น เพราะง่ายต่อการจัดการมากกว่า ส่วนกระทงควรเป็น ‘กระทงเช่า’ ทำจากวัสดุที่ทนทาน ทนน้ำ ใช้งานได้หลายปี สามารถใช้เวียนกันลอยได้เป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นคล้าย ๆ กับการทำบุญแบบเวียนสังฆทาน เพื่อความเชื่อและความสบายใจสำหรับผู้ที่ศรัทธา และเป็นกิจกรรมที่เราได้ทำร่วมกันกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง
สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าเราทุกคนจะให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่นเทศกาลลอยกระทงก็ได้ เพราะบางครั้งเราอาจมองเห็นว่าวิธีการแบบเก่าไม่เหมาะสมกับบริบทของปัจจุบันเสมอไป เราจำเป็นต้องหาวิธีการที่สร้างสรรค์เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาประเพณีอันดีงามให้เข้ากับยุคสมัยต่อไป
Reference
รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์, (2562), ถ้าลอยกระทงกลับกลายเป็นประเพณี ‘สร้างขยะ’ แล้วทำไมเรายังต้องมีประเพณีนี้ต่อไปอีก, สืบค้นเมื่อ 31 ต.ค. 2563, จาก The Momentum: https://themomentum.co/loi-krathong-waste-produced-festival/
อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์, (2560), หลากมุมมองของขยะจากกระทง, สืบค้นเมื่อ 31 ต.ค. 2563, จาก สสส: https://www.thaihealth.or.th/Content/39536-หลากมุมมองของขยะจากกระทง.html