“เป็นคนสาธารณะ ก็ต้องรับคำวิจารณ์ได้” คือเหตุผลที่เกรียนคีย์บอร์ดหลายคนชอบใช้กัน เพราะการพิมพ์วิจารณ์คนอื่นง่ายกว่าการนั่งคิดไตร่ตรองถึงผลเสียที่จะตามมา มือดีหลายคนก็เลยเจอหมายศาลโดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้เราเห็นคดีคนดังฟ้องหมิ่นประมาทเกรียนคีย์บอร์ดกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นเพราะชุดความคิดที่ว่าบนพื้นที่ออนไลน์สามารถพูดอะไรก็ได้อย่างใจคิดและการวิจารณ์คนมีชื่อเสียงแรง ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่เราอย่าลืมว่าแม้จะเป็นบุคคลมีชื่อเสียงก็เป็นคนและประชาชนคนหนึ่งที่มีความรู้สึกไม่ต่างจากคนทั่วไป อยู่ใต้กฎหมายของสังคมเดียวกัน ถ้าถูกว่าร้ายให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็มีสิทธิฟ้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ ถึงจะเป็นสังคมออนไลน์ที่คนเราไม่ได้เจอกันซึ่งหน้าก็ยังมีกฎเกณฑ์เพื่อจัดการให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ การวิจารณ์จึงมีขอบเขตของมันและคุณควรรู้เอาไว้ว่าต่างจากการหมิ่นประมาทอย่างไร
ความแตกต่างของการวิจารณ์และการหมิ่นประมาท
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า วิจารณ์ ไว้ว่า “ให้คำตัดสินสิ่งที่เป็นศิลปกรรมหรือวรรณกรรมเป็นต้น โดยผู้มีความรู้ควรเชื่อถือได้ ว่ามีความงามความไพเราะอย่างไร หรือมีข้อขาดตกบกพร่องอย่างไรบ้าง” ถ้าให้พูดง่าย ๆ ก็คือหมายถึงการติเพื่อก่อ ติอย่างสร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร แต่เท่าที่เห็นในคอมเมนต์บนโลกโซเชียล ส่วนใหญ่มักมีคำด่าทอหยาบคายนำมาก่อนเหตุผลเสมอ (คำหยาบนับเป็นอีกข้อหาหนึ่งไม่รวมกับหมิ่นประมาท) ส่วนการหมิ่นประมาท คือ การพูดใส่ร้ายให้ผู้อื่นในทางที่จริงหรือไม่จริงก็ตามแล้วทำให้เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ที่มีคนรู้เห็นจำนวนมาก ถ้าจะดูว่าการด่าแบบใดถือเป็นการหมิ่นประมาทให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของข้อเท็จจริง เช่น การด่าไอ้เ-ี้ย ไอ้สั- ถือเป็นการด่าหยาบคาย ไม่ใช่หมิ่นประมาท เพราะคนจะเป็นตัวเหี้ยหรือเป็นสัตว์ไม่ได้ ถ้าด่าว่าเป็นกะ-รี่ เป็นเมียน้อย แ-ด ร่า- อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ สามารถฟ้องได้ข้อหาหมิ่นประมาท แม้แต่การโพสต์ลอย ๆ ไม่ระบุชื่อก็อาจถูกฟ้องร้องได้ถ้าหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวถึงได้ แต่ถ้าเป็นในลักษณะเหน็บแนม ตั้งคำถาม หรือการคาดเดาที่ยังไม่ระบุข้อเท็จจริงชัดเจนและไม่ทำให้เสียชื่อเสียง ก็จะไม่ถูกฟ้อง
ใช้บัญชีอวตารก็ถูกหาเจอได้
“อวตาร” เป็นคำศัพท์วัยรุ่นที่ใช้เรียกบัญชีผู้ใช้สื่อออนไลน์แบบไม่ระบุตัวตนชัดเจน มักจะใช้ภาพตัวการ์ตูนหรือภาพอย่างอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีตัวจริง ซึ่งหลาย ๆ ครั้งอวตารเหล่านี้แหล่ะมักเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทเพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงของตนเอง แต่ด้วยเทคนิคของการสืบหาพยานหลักฐานก็สามารถหาความเชื่อมโยงกับบัญชีผู้ใช้ตัวจริงได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย สถานที่เช็คอิน หรือลักษณะข้อความที่ใช้โต้ตอบกับคนอื่น ทุก ๆ อย่างเมื่อถูกบันทึกลงบนพื้นที่ของอินเทอร์เน็ตแล้วก็จะอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานจนเราอาจนึกไม่ถึง การหมิ่นประมาทโดยเฉพาะบนสื่อโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า “กรณีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ผู้ที่พบเห็นสามารถเป็นใครอยู่ที่ไหนก็ได้ จึงยิ่งไม่มีข้อจำกัดเรื่องขอบเขตหรือพื้นที่ในการฟ้องร้องเท่าการหมิ่นประมาทซึ่งหน้าแบบเจอกันตัวต่อตัว
เสียเวลาตั้งสติก่อนพิมพ์ ดีกว่าเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล
คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีที่เจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของฝ่ายโจทย์และจำเลย เพราะถ้าคดีไปจนถึงขั้นสืบพยานไต่สวนกันแล้วก็จะยืดยาวกว่าจะจบสิ้น ทนายความของโจทก์ก็มีวิธีที่สามารถตีความให้ข้อความหมิ่นประมาทต่าง ๆ เป็นข้อความที่มีความผิดจริงได้ หลายคดีจึงมักจบลงที่การไกล่เกลี่ยยอมความและจ่ายค่าเสียหายอย่างที่เราเห็นกัน การถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาลต้องเสียทั้งเวลา ค่าเดินทาง หรือดีไม่ดีก็อาจเสียภาพลักษณ์เพราะขึ้นชื่อว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นจำเลยคดีหมิ่นประมาทผู้อื่น ดังนั้น ทางที่ดีเราควรระวังการแสดงความคิดใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการหมิ่นประมาทผู้อื่นไว้ก่อนจะดีกว่า
สื่อโซเชียลมีเดียทำให้คนทั้งโลกได้รู้จักและใกล้ชิดกันง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเครื่องมือที่ผู้คนใช้ทำลายกันด้วยคำพูดได้อย่างง่ายดาย กฎระเบียบในโลกแห่งความเป็นจริงจึงต้องนำมาใช้กับโลกสมมติในอินเทอร์เน็ตที่อะไรก็เป็นไปได้ เพราะคำพูดสามารถฆ่าให้คนตายได้ไม่ต่างจากอาวุธในความเป็นจริงเลย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการทำร้ายจิตใจคนอื่นเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเราคงไม่เห็นข่าวการฆ่าตัวตายของศิลปินชื่อดังหลายคนที่ถูกด่าทอให้ร้ายอย่างรุนแรงบนโลกโซเชียล ฉะนั้น อย่าคิดว่าเราจะทำอะไรหรือพูดอะไรตามอำเภอใจเราก็ได้ นึกถึงใจเขาใจเรา และคำนึงอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราจะพิมพ์ไปนั้นก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ในโลกอีกใบของทุกคนหรือไม่ ถ้าหากไม่ก็ควรหลีกเลี่ยงไปเลยดีที่สุด
Reference
จะด่าใครคิดให้ดี เทียบชัดๆ ด่าหยาบคาย VS หมิ่นประมาท แบบไหนเจอโทษหนัก?, (2560), สืบค้นเมื่อ 6 พ.ย. 2563, จาก ไทยรัฐออนไลน์: https://www.thairath.co.th/news/952403
ภูดิท โทณผลิน, (2562), เหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียตกเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท, สืบค้นเมื่อ 6 พ.ย. 2563, จาก Thailawnews: https://www.thailawnews.com/2019/05/16/social/