เป็นความพยายามของกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ ต้องการยกระดับหมู่บ้านผลิตผ้าไหมของสุรินทร์ให้เป็นหมู่บ้านผลิตผ้าไหมเพื่อการท่องเที่ยว และโฮมสเตย์ นายกสิณ นวลโคกสูง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เล่าให้ฟังว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านผลิตผ้าไหมให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยว ได้เลือกบ้านหม่อนไหมพัฒนา ต.แจนแวน อ.ศรีณรงค์ และบ้านประทุน ต.แตล อ.ศีขรภูมิ ซึ่งพูดภาษาเขมรและภาษาส่วย เข้าโครงการในปีนี้ ทั้งสองหมู่บ้านมีจุดเด่นอยู่ที่การฝีมือการทอผ้าไหมพื้นบ้าน วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และเป็นหมู่บ้านที่สงบ น่าอยู่ นางประกอบ จำปาทอง ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหม บ้านประทุน กล่าวว่า บ้านประทุน มีรายได้จากการทอผ้าไหม จนแทบจะเป็นงานหลัก ส่วนทำนาเป็นงานรอง เพราะนาทำได้แค่ปีละครั้ง แต่ทอผ้าไหมนั้นทำกันทุกวัน แต่ละบ้านจะมีรายได้เฉลี่ยจากการทอผ้าไหมประมาณ เดือนละ 30,000 บาท สำหรับกลุ่มสตรีทอผ้าไหม บางเดือนขายผ้าไหมได้มากกว่า 1 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหน้าร้าน ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้า แม่ค้าทั้งในสุรินทร์และจังหวัดอื่น รวมทั้งกรุงเทพฯ มาเลือกซื้อผ้าไหมไปขายแทบทุกวัน จุดเด่นของผ้าไหมบ้านประทุนคือ ผ้าไหมหางกระรอก โดยเฉพาะโสร่ง มีความสวยงาม ได้รางวัลจากการประกวดแทบทุกปี ขณะนี้ทางหมู่บ้านได้เปิดหน้าร้านบนเฟซบุ๊ก ได้ประมาณสองเดือนแล้ว โดยเป็นทั้งหน้าร้านจำหน่ายผ้าไหม และให้ข้อมูลการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ของบ้านประทุน ใช้ชื่อว่า หมู่บ้านท่องเที่ยวบ้านประทุน สาเหตุที่เลือกใช้บริการเฟซบุ๊ก และโซเชียลเน็ตเวิร์ก แทนการเปิดเว็บไซต์ เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย และทำง่าย ลูกหลานที่ไปเรียนหนังสือเป็นคนจัดทำให้ และอัพเดทข่าวตลอดเวลา ส่วนผู้ใหญ่ก็ทอผ้ากันไป แม้จะเพิ่งเริ่ม แต่ก็เห็นประโยชน์จากเฟซ บุ๊ก เพราะได้รับติดต่อสอบถามเกี่ยวกับหมู่บ้าน และสอบถามราคาผ้าไหมเป็นประจำแทบทุกวัน ส่วนบ้านหม่อนไหมพัฒนา ก็อยู่ระหว่างเปิดหน้าเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นหน้าร้านออนไลน์ และให้ข้อมูลหมู่บ้านท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวกุย ซึ่งมีแต่เสียงหัวเราะและความสนุกสนาน โดยเฉพาะรำแกลมอ ที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมได้ตลอดเวลา บ้านหม่อนไหมพัฒนา มีชื่อเสียงอยู่ที่การเลี้ยงไหมแบบครบวงจรทั้งหมู่บ้าน เส้นไหมของหมู่บ้านเป็นเส้นใยธรรมชาติแท้ ๆ เส้นอาจจะไม่เรียบเหมือนไหมโรงงานแต่โดดเด่นและมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ทั้งสองหมู่บ้าน ได้คัดเลือกบ้านเพื่อจัดทำเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิต ตื่นเช้าใส่บาตร สายก็ทำกิจกรรมร่วมกัน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชนแบบถึงที่ถึงถิ่น ในขณะที่คนบางกลุ่มใช้เฟซบุ๊ก หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ๆ เพื่อความบันเทิง แต่หมู่บ้านในต่างจังหวัดหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีที่มีให้ใช้ฟรี ๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อประชา สัมพันธ์หมู่บ้าน ขายสินค้าโอทอป ขายวิถีชีวิตชุมชน โดยมีลูกหลานเป็นผู้จัดการให้ แบบนี้น่าสนับสนุน. [code] ที่มา : ปรารถนา ฉายประเสริฐ prathana.chai@gmail.com http://www.dailynews.co.th/technology/158691 [/code]