สวัสดีคอยานยนต์ไฟฟ้าทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวใหญสะเทือนวงการจะมาแจ้งให้ทุกท่านได้ทราบว่า หัวชาร์จ Tesla เตรียมถูกดันให้กลายเป็นหัวชาร์จมาตรฐานของทวีปอเมริกาเหนือแล้ว โดยเทคโนโลยีหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา (Tesla) ได้ใบผ่านทางด่วน เร่งผลักดันเป็นหัวชาร์จมาตรฐานสำหรับชาร์จรถไฟฟ้าในอเมริกาเหนือ ช่วยเสริมแผนการขยายการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบเฉพาะของบริษัทเทสลาทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดังนี้
- หัวชาร์จรถไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งปัญหาที่ผู้ใช้รถไฟฟ้าปวดหัวกันไม่น้อย เพราะในปัจจุบันมีผู้ผลิตแต่ละเจ้ามีมาตรฐานหัวชาร์จเป็นของตัวเอง มีทั้งการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ บ้างก็มีทั้งหัวชาร์จแบบเร็ว (fast charge)
แต่ดูเหมือนว่าหัวชาร์จ NACS (North American Charging Standard) หรือหัวชาร์จมาตรฐานการชาร์จอเมริกาเหนือของเทสลา (Tesla) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สัญชาติอเมริกัน จะมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะกลายเป็นหัวชาร์จรถไฟฟ้าแบบมาตรฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา แทนที่หัวชาร์จรถไฟฟ้ากำลังสูงแบบ CSS (Combined Charging System) ซึ่งทางการสหรัฐฯ พยายามผลักดันอยู่ หลังจากที่เทสลาได้ประกาศความร่วมกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายเจ้าในสหรัฐฯ
- หลังจากที่ปลายปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เทสลาได้ประกาศปรับให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ สามารถนำหัวชาร์จ NACS (เอ็นเอซีเอส) หรือ North American Charging Standard ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานหัวชาร์จแบบเปิด (Open Standard) ไปใช้กับรถไฟฟ้าในค่ายตนเองได้ ซึ่งหัวชาร์จนี้ รองรับทั้งการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC charging) ในครัวเรือน และการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC charging) ผ่านสถานีชาร์จ นอกจากนี้ทางเทสลายังอ้างว่าหัวชาร์จ NACS ของตนมีขนาดเล็กกว่าหัวชาร์จแบบ CSS (ซีเอสเอส) อีกด้วย
-
โดยผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำหลายเจ้า เช่น ฟอร์ด (Ford) เจเนรัลมอเตอร์ (General Motor) และ วอลโว่ (Volvo) ได้หันมาจับมือกับทางเทสลา และเริ่มใช้หัวชาร์จแบบ NACS เพื่อให้บริษัทสามารถใช้เทคโนโลยีซูเปอร์ชาร์จเจอร์ (Superchargers) หรือสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วของเทสลาได้ ซึ่งในปัจจุบัน เทสลามีสถานีชาร์จรถไฟฟ้ามากกว่า 12,000 แห่งในสหรัฐฯ และประเทศแคนาดา
-
นอกจากนี้ หากคำนวณดูแล้ว ในปัจจุบัน เทสลา ฟอร์ด และ เจเนรัลมอเตอร์ ครองตลาดรถไฟฟ้าในอเมริกาเหนือไปมากกว่าร้อยละ 72 แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า เทสลาได้ครองตลาดหัวชาร์จรถไฟฟ้าในอเมริกาเหนือไปเป็นที่เรียบร้อย
-
ความร่วมมือระหว่างเทสลากับผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายอื่น ๆ สร้างความปวดหัวให้กับทางการสหรัฐอเมริกาไม่ใช่น้อย เพราะก่อนหน้านี้สมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (SAE International) เตรียมผลักดันหัวชาร์จแบบ CSS (ซีเอสเอส) หรือ (Combined Charging System) ซึ่งเป็นหัวชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) รูปแบบหนึ่ง ให้เป็นหัวชาร์จมาตรฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกานิยมใช้หัวชาร์จ แบบ CCS TYPE 1 (ซีเอสเอส ไทป์วัน) รองรับแรงดันไฟฟ้าได้ประมาณ 200 ถึง 500 โวลต์
ซึ่งหัวชาร์จ CSS นั้นเป็นหัวชาร์จมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วไป ไม่ได้เป็นหัวชาร์จแบบเฉพาะของเอกชนรายใดรายหนึ่งแบบหัวชาร์จ NACS ของเทสลา นอกจากนี้ในปัจจุบันหัวชาร์จ NACS หรือหัวชาร์จมาตรฐานการชาร์จอเมริกาเหนือของเทสลา ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากทางสมาคมให้เป็นหัวชาร์จมาตรฐานในอเมริกาแต่อย่างใด
- อย่างไรก็ดี ทางสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่า จะมีการพูดคุยและตกลงกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่อไป โดยสมาคมเผยว่า ทางการอาจจะนำเม็ดเงินมาช่วยสนับสนุนหัวชาร์จของเทสลาในอนาคต หากสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามีหัวชาร์จทั้งสองแบบให้บริการ เพื่อป้องกันการผูกขาดหัวชาร์จรถไฟฟ้าต่อไป เพราะในขณะนี้ สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เร่งติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มเติมมากกว่า 500,000 จุด ทั่วประเทศให้เสร็จภายในปีค.ศ. 2030
-
โดยก่อนหน้านี้รัฐเท็กซัส และรัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกาออกข้อบังคับให้สถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ติดตั้งในรัฐ ต้องมีหัวชาร์จ NACS และ CSS อย่างน้อยอย่างละหัวเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากข้อตกลงเรื่องหัวชาร์จรถไฟฟ้าผ่านมติกลางจากทำเนียบขาว ทางเทสลามีโอกาสได้เม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากถึงพันล้านเหรียญ หรือราว 35,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้าที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทุกคน ซึ่งในอนาคต หัวชาร์จของเทสลาจะกลายเป็นมาตรฐานหัวชาร์จรถไฟฟ้าในอเมริกาเหนือได้สมชื่อ หรือทางการสหรัฐฯ จะยื้อให้สถานีชาร์จต้องมีหัวชาร์จทั้งสองแบบควบคู่กัน ต้องติดตามกันต่อไป แต่สำหรับในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทสลาได้ครองตลาดหัวชาร์จส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว