เมียนมาร์กลายเป็นประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเมือง และคนไทยจำนวนมากพูดถึงเมื่อต้องการเชื่อมโยงถึงการเปิดการค้าเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีบริษัทการค้าจากประเทศไทยเข้าไปกรุยทาง ทำมาค้าขายสินค้ายี่ห้อไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองหลวง คือ ย่างกุ้ง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ มีทั้งกิจการจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ปูนซีเมนต์ สีทาอาคาร สถานพยาบาล สำนักงานตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ และอนาคตคงจะมีเพิ่มมากขึ้นอีกหลากหลายอย่างรวดเร็ว เพราะประชากรของพม่ามีจำนวนมากกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ หรือจำนวนขนาดน้องๆ ประชากรไทยทีเดียว “อสังหาริมทรัพย์” ก็เป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งที่มีผู้สนใจและอยากทราบสถานการณ์ตลาด ผมจึงหาโอกาสไปเดินดูโครงการต่างๆ ในย่างกุ้ง พบปะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และสนทนาถึงขอบเขตข้อจำกัดต่างๆ ในการทำธุรกิจ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบ้านเรา สิ่งที่ได้รับทราบด้วยความแปลกใจอย่างยิ่ง คือ คนเมียนมาร์จำนวนหนึ่งมีเงินและมีเงินมากเสียด้วย กระบวนการซื้อขายบ้านไม่สลับซับซ้อนเพราะใช้เงินสดในการซื้อขาย ไม่กู้ธนาคาร ไม่รู้จักเรื่องสินเชื่อบ้าน หรือ Mortgages เวลาซื้อบ้านก็ขนเงินจ๊าด (Kyat) ใส่ถุง หอบไปวางกองให้ผู้ขายใช้เครื่องนับธนบัตรนับเอา เงินสดเหล่านี้มาจากไหนบ้างไม่ทราบ ทราบแต่ว่าอาจมีธุรกิจธุรกรรมที่ไม่ค่อยสว่างอยู่บ้าง และมีการหลบเลี่ยงภาษีต่างๆ พอสมควร เมื่อมีเงินแล้วไม่มีช่องทางอื่นในการต่อยอด หรือไม่ไว้วางใจระบบธนาคาร ก็ต้องนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในอีกแง่หนึ่งคนเมียนมาร์อาจเก็บเงินเก่ง ใช้จ่ายอย่างอื่นน้อย จึงสามารถเก็บเงินไว้ซื้อบ้านเงินสดได้ ความที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้เมืองย่างกุ้งมีตึกรามบ้านช่องเก่าๆ จำนวนมาก ทั้งที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลเป็นมรดกตกทอดมา และที่สร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบสมัยใหม่กว่า แต่อาคารเก่าจำนวนมากถูกทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือขาดการทำนุบำรุงดูแล มาตั้งแต่ยุคที่ “นายพลเนวิน” ยึดกิจการต่างชาติเป็นของรัฐ คาดว่าในอนาคตเมื่อมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น คงจะมีการนำอาคารเก่าเหล่านี้มา re-develop หรือพัฒนาขึ้นใหม่ให้สามารถใช้ประโยชน์ และดึงความงดงามกลับคืนมา โดยเฉพาะบริเวณในเมืองและใกล้ท่าเรือ ในเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น มีอพาร์ตเมนต์ลักษณะตึกแถวสูง 6-8 ชั้นจำนวนมาก แต่มีช่องบันไดอยู่ในซอกครึ่งคูหาสำหรับเดินขึ้น เพราะอพาร์ตเมนต์ไม่มีลิฟต์ ชาวเมืองย่างกุ้งยัดทะนานกันอยู่ตามตึกสูงคล้ายในฮ่องกง หากเป็นคอนโดมิเนียมนั่นแหละจึงจะมีลิฟต์ หรือหากมีลิฟต์จึงจะเรียกว่าคอนโดมิเนียม แต่การอยู่ในคอนโดมิเนียมก็ยังเป็นสัญญาเช่าเหมือนอพาร์ตเมนต์ เพราะกฎหมายเมียนมาร์ยังไม่มีการกำหนดกรรมสิทธิ์สมบูรณ์สำหรับที่อยู่อาศัยแนวสูง ขณะนี้ กำลังมีการผลักดันกฎหมายอาคารชุด หากปลายปีนี้ไม่เสร็จก็อาจเสร็จปีหน้า เมื่อกฎหมายออกแล้วอาจทำให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ เพิ่งเริ่มเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในเมียนมาร์ แต่ยังมีประเด็นน่าสนใจชวนให้ติดตาม คงต้องขอต่ออีกรอบในโอกาสหน้า