ในวงการศึกษาได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากเกมในการพัฒนาการเรียนรู้และได้ออกแบบและพัฒนา e-learning ประเภทเกม หรือ (Games Based Learning) มาเป็นสื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ผ่านเกมนั้นเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเพราะผู้เรียนเกิดมาในยุคที่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และเครื่องมือสื่อสารที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จึงมีผลทำให้ความชอบ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนต่อรูปแบบการเรียนรู้และการที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม และลงมือปฏิบัติจะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการเรียนรู้ ทีมนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดีย จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้สร้างความสำเร็จด้วยการผลิต การสร้างสรรค์เกมบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบเกมเกรท คิงส์ ซิตี้ (Great King City) โดยเกมดังกล่าวเป็นเกมออนไลน์ ที่น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นายธนะชัย แย้มพลอย นศ.ชั้นปี 4 คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายว่า พวกเราเริ่มจากการเรียนเขียนโปรแกรม Flash CS 5 และพัฒนาต่อยอดดีไซน์การเขียนโปรแกรมมาอยู่ในรูปแบบเกม โดยทีมได้สร้างเกมที่ชื่อว่า “เกมแพทย์อาสามหาสนุก” เป็นเกมใน เฟซบุ๊ก รูปแบบเกมจะมีหมอเฉพาะทาง 4 ด้านได้แก่ ด้านจักษุแพทย์ ด้านศัลยแพทย์ แพทย์ทั่วไป และศัลยกรรม ให้ผู้เล่นบริหารจัดการ โดยใช้ไอคอน เลือกเมนูในการรักษาคนไข้ให้ถูกโรค ซึ่ง ผู้เล่น 1 คนอาจเป็นหลากหลายโรค ดังนั้นผู้เล่นจะต้องรักษาผู้ป่วยให้หายขาด โดยการจับเวลาเล่นเกมภายใน 5 นาที โดยมีแต่ละระดับความยากง่ายให้แข่งขัน พร้อมทั้งมีคำอธิบายถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงให้ผู้เล่นทราบด้วย “พวกเรารู้สึกภูมิใจ เพราะผลงานดังกล่าวได้คว้ารางวัลรองชนะเลิศใน โครงการสร้างสรรค์เกมบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก จัดโดยบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ซึ่งอย่างน้อยเราได้มีส่วนร่วมในการสร้างเกมที่เกี่ยว ข้องกับโครงการของในหลวง ซึ่งผมคิดว่าปัจจุบันยังมีเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงโครงการดี ๆ ที่พระองค์ท่าน ได้ทรงทำให้กับปวงชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน และเราในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ขอตั้งใจทำความดีเพื่อในหลวงของเรา โดยปัจจุบันผมมองว่าเกมมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้ ดังนั้นเกมสร้างสรรค์สังคมแบบนี้ก็อยากให้เด็กและเยาวชนได้ลองนำไปเล่น เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กมีจิตสาธารณะรู้จักรับผิดชอบ ต่อสังคมที่ดีอย่างแน่นอน” นายธนะชัย กล่าว ถือได้ว่าเป็นผลงานที่สุดยอด ในการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนในห้องเรียนมาประยุกต์จัดสร้างผลงานที่มีคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชน แม้เกมคอมพิวเตอร์จะสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินหากเล่นมากเกินไปกลับเป็นดาบที่มาเชือดเฉือนพัฒนาการ ในวัยเด็กอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้เกมไม่ใช่ปิศาจร้ายหากเลือกเล่นอย่างสร้างสรรค์ เพราะว่าเกมนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน. บทความและรูปภาพจาก : อุทิตา รัตนภักดี (http://www.dailynews.co.th/technology/149409)