เคยไหม เมื่อตอนที่คุณยังเป็นเด็กๆ มักจะถูกผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ดุด่าว่ากล่าวตักเตือน และบ่นในเรื่องต่างๆ แล้วเราก็จะแสดงอาการไม่พอใจออกมาในลักษณะต่างๆกันไป แต่อาการหนึ่งคือการโต้เถียง ที่มักจะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่ถูกดุด่าว่ากล่าว นี่แหละคือสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นการโต้เถียง เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบให้เด็กเถียง ในขณะที่ผู้ใหญ่กำลังดุด่าว่ากล่าว และมักจะเกิดอารมณ์ขึ้นทุกครั้ง บางครั้งถึงกับต้องลงไม้ลงมือ ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะเถียงผู้ใหญ่
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “เถียง” ในความหมายของผู้ใหญ่ก็คือการโต้แย้งทุกคำพูดของผู้ใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงว่าผิดหรือถูก ส่วนในความหมายของเด็กก็คือ “อธิบาย” ซึ่งการอธิบายของเด็กก็มักจะเกิดขึ้นร่วมกับอารมณ์โกรธ ขุ่นเคืองในใจที่โดนดุด่ากล่าว จึงทำให้น้ำเสียงดูดุดัน บางครั้งอาจดูเหมือนกร้าวร้าว แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่งคือการได้อธิบายเหตุผลหรือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้บ้าง แต่เด็กมักจะถูกห้ามไว้ก่อน โดยเหมารวมทั้งหมดว่าเป็นการเถียง หากผู้ใหญ่เปิดโอกาสรับฟังเด็กได้อธิบายก่อนถึงต้นเหตุแห่งการดุด่าว่ากล่าวแล้ว “การเถียง” ก็คือ “การอธิบาย” ในความหมายของเด็กนั่นเอง
การรับฟังคำอธิบายของเด็ก จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ใหญ่ได้ และลดความโกรธลงได้ด้วย ทำให้ผู้ใหญ่สามารถอธิบายหรือชี้แจงสิ่งผิดสิ่งถูกให้กับเด็กได้ จะเป็นผลดีมากกว่าการปิดโอกาสเด็ก โดยใช้ความเป็นผู้ใหญ่กว่าบังคับให้กระทำตามที่ตนต้องการ อย่างเช่น ใช้คำว่า “ห้ามเถียง” เมื่อเด็กเถียงก็จะเกิดบรรดาลโทสะ ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ซึ่งไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร
เจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ ต้องการดุด่าว่ากล่าวเพื่อตักเตือนเด็กเมื่อเด็กทำผิด แต่จะผิดหรือถูกอย่างไรนั้น หากเปลี่ยนความหมายตามความเข้าใจของผู้ใหญ่ที่ว่า “เถียง” เป็น “อธิบาย” ก็จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนที่ผู้ใหญ่จะดุด่าว่ากล่าวเด็ก อยากให้เปิดโอกาสให้เด็กได้ “อธิบาย” ในสิ่งที่เป็นต้นเหตุบ้าง ถ้าไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้อธิบาย หรือความหมายของผู้ใหญ่คือ “ห้ามเถียง” ก็จะเป็นเพียงการใช้อารมณ์โกรธมากกว่าการใช้เหตุผลและรับฟังคำอธิบายของเด็ก ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของความไม่เข้าใจกัน และสร้างปัญหาในใจให้กับเด็กต่อไป