เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา กระแสต่อต้านการแบน Pornhub ของประเทศไทยถูกพูดถึงในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าการแบนเว็บโป๊ที่มีขนาดใหญ่และมีผู้ใช้ทั่วโลกแบบนี้ย่อมเป็นข่าวใหญ่อยู่แล้ว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอยู่ในชุมชนของแพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่น้อย ๆ และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นการเข้าถึงเรื่องเพศอย่างเสรีเป็นข้อถกเถียงที่มีมานานเพราะบ้านเรามีกรอบจารีตและศีลธรรมที่ค่อนข้างเคร่งครัด บางครั้งเว็บโป๊และสื่อเรื่องเพศต่าง ๆ จึงกลายเป็นจำเลยในข้อหาทำให้เกิดการข่มขืน แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเพราะปัญหาเรื่องการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศมีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งก็เป็นผลจากสภาพสังคมที่ไม่เปิดให้เรื่องเพศกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงและเรียนรู้ได้อย่างเสรีนั่นเอง ในขณะเดียวกันเว็บโป๊ก็เป็นเครื่องมือของอาชกรทางเพศหากไม่มีการคัดกรองที่ดีพอ ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องคลิปหลุดที่ผู้อยู่ในคลิปไม่ยินยอมมาก่อนหน้านี้แล้ว
เหตุผลที่ต้องแบน Pornhub
รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เหตุผลว่าการบล็อค Pornhub นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการเข้าถึงสื่อลามกและเว็บไซต์การพนันซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การบล็อคครั้งนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนเกิดกระแส #Savepornhub ขึ้น หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อที่ทุกคนมี การจำกัดการเข้าถึงเช่นนี้เป็นไปเพื่อปกป้องศีลธรรมหรือกลบกระแสภาพลักษณ์ที่เสียหายของใครบางคนกันแน่ ซึ่งก็ถูกโยงไปถึงสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุอยู่ในปัจจุบันว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกันได้
แคมเปญ #NotYourPorn สะท้อนว่า Pornhub เองก็ต้องเปลี่ยนแปลง
ในขณะเดียวกันก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับ Pornhub ว่าเป็นแหล่งของอาชญากรทางเพศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้มีคลิปวิดีโอที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคนในคลิป การล่วงละเมิดเด็กและเยาวชน ไปจนถึงคลิปข่มขืนที่ยังมีการอนุญาตให้ลงอีก (ไม่นับบทของนักแสดงหนังโป๊นะ) ซึ่งตรงนี้หลายคนมองว่าสมควรแล้วที่ต้องถูกแบน และในต่างประเทศก็มีการถกเถียงอยู่เหมือนกันว่าเราควรเปลี่ยนแปลงหรือปิด Pornhub ไปเลย มีหลายกรณีที่มีผู้ถูกแอบถ่ายไปพบคลิปของตนเองบนเว็บไซต์ กว่าจะร้องเรียนและถูกถอดคลิปออกได้ก็มีผู้เข้าถึงจำนวนมากแล้ว หรือผู้ที่เคยถูกข่มขืนตอนที่ยังเป็นผู้เยาว์ก็ไปพบคลิปของตนเองภายหลังเช่นกัน ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจของเหยื่อเป็นอย่างมาก เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมข้อบังคับของ Pornhub จึงไม่มีมาตรฐานและยอมให้คลิปเหล่านี้ปรากฏอยู่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเหยื่อก็มักจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ถ้าเราจะมองว่าถ่ายเองลงเองหรือเป็นรสนิยมจะเสียหายอย่างไร เราต้องคำนึงว่าการถูกปล่อยคลิปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวย่อมเป็นสิ่งที่ผิดอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเห็นวิดีโอตัวเองถูกข่มขืนหรือแอบถ่ายบนเว็บไซต์สาธารณะแน่นอน แต่ Pornhub ก็ไม่ได้จัดการอะไรอย่างจริงจัง จึงเกิดแคมเปญ #NotYourPorn ขึ้นโดย Kate Isaacs เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษแบนเว็บไซต์นี้จนกว่าจะจัดการกับคลิปที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมให้หมดไป
แยกประเด็นเรื่องเสรีภาพและอาชญากรรม
ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อทางเพศ หน่วยงานรัฐบาลควรคำนึงถึงการจัดการที่เหมาะสมมากกว่านี้ไม่ใช่การปิดกั้น เรื่องเพศเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของตนเองอย่างเหมาะสม การสั่งปิดเว็บโป๊เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเพราะปัญหาในสังคมซับซ้อนเกินว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีง่าย ๆ วิธีเดียว แต่ทั้งนี้ถ้าเราพิจารณาเรื่องมาตรฐานทางจริธรรมที่เกิดขึ้นบน Pornhub แน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่คนในชุมชนบนแพลตฟอร์มต้องช่วยกันแก้ไข เพราะปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศและการปล่อยสื่อที่เจ้าตัวไม่ยินยอมเป็นอาชญากรรมอย่างชัดเจน ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับคนกระทำผิดอย่างเข้มงวดและเพิ่มมาตรฐานการคัดกรองที่ดีกว่านี้ อาชญากรรมทางเพศเป็นคนละเรื่องกันกับเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อทางเพศ ดังนั้น เราจึงต้องพูดถึงปัญหาโดยการพิจารณาถึงใจความสำคัญเป็นหลัก ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องสิ่งที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนาสังคมในสื่อรูปแบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเว็บโป๊หรือโซเชียลมีเดียใด ๆ ก็ตาม
Reference
Kate Isaacs, (2020), Pornhub needs to change – or shut down, Retrieved Nov 3rd, 2020, from The Guardian: https://www.theguardian.com/global-development/2020/mar/09/pornhub-needs-to-change-or-shut-down
Reuters, (2020), Thailand’s online porn ban sparks backlash, Retrieved Nov 3rd, 2020, from CNN: https://edition.cnn.com/2020/11/03/asia/thailand-porn-ban-protest-scli-intl/index.html