คอหุ่นยนต์ต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรามีข่าวสำคัญจะแจ้งว่าล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมทดสอบหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในปี 2024 รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- สหรัฐฯ เตรียมส่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไปทดลองการผ่าตัดเสมือนบนสถานีอวกาศนานาชาติในอีก 2 ปี สอดรับภารกิจส่งมนุษย์ไปสำรวจอวกาศของนาซา
- การส่งมนุษย์ไปยังอวกาศที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าเดินทางไปยังดวงจันทร์ซึ่งใช้ระยะเวลา 3 วัน จำเป็นจะต้องนึกถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม และการรักษาโรค ดังนั้น นาซา (NASA) จึงได้อนุมัติเงินทุนเพื่อให้มีการทดสอบไมร่า (MIRA) หุ่นยนต์ผู้ช่วยในการผ่าตัดบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ภายในปี 2024 นี้
- ไมร่า (MIRA) เป็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robot-Assisted Surgery: RAS) ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ที่พัฒนาโดยบริษัท เวอร์ชวลอินซิสชัน (Virtual Incision) บริษัทด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์การแพทย์จากสหรัฐอเมริกา เป็นหุ่นยนต์ที่มีปลายแขนเป็นคีมสำหรับขยับและติดตั้งเครื่องมือผ่าตัด มีน้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม เล็กพอที่จะติดตั้งและช่วยทำการผ่าตัดได้ในทุกรูปแบบห้องผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งานกับมนุษย์ (Clinical Trial) เพื่อยื่นขออนุญาตจากเอฟดีเอ (FDA: Food and Drug Administration) หรือที่รู้จักในนาม “อย. สหรัฐฯ” เพื่อการทำการตลาดเร็ว ๆ นี้
- และจากจุดเด่นของไมร่า (MIRA) ทำให้เชน ฟาร์ริเตอร์ (Shane Farritor) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของเวอร์ชวลอินซิสชัน (Virtual Incision) ที่ควบตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเนบราสก้า-ลินคอล์น (University of Nebraska-Lincoln) ยื่นขอทุนวิจัยจากนาซา (NASA) เพื่อท้าทายความสามารถของไมร่า (MIRA) จากความสะดวกสบายในการติดตั้งระบบช่วยผ่าตัดบนโลก ไปสู่อวกาศที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
- การทดลองที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จะจำลองการผ่าตัดโดยให้ไมร่า (MIRA) ติดตั้งและเตรียมความพร้อมในการช่วยผ่าตัดด้วยตัวเองภายใต้กล่องควบคุมที่มีขนาดใกล้เคียงกับเตาไมโครเวฟ (Microwave Oven) เพื่อทดสอบความสามารถในการตัดเนื้อเยื่อ การขยับวัตถุ ที่เสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผ่าตัด พร้อมแสดงศักยภาพในการทำความสะอาดตัวเองของไมร่า (MIRA) ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบแยก แต่ใช้กลไกทั่วไปเพื่อทำความสะอาดด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับภารกิจผ่าตัดบนอวกาศในอนาคต
- เชน ฟาร์ริเตอร์ (Shane Farritor) มองว่ากระบวนการทำงานของไมร่า (MIRA) จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของการท่องเที่ยวอวกาศ (Space Travel) และภารกิจสำรวจอวกาศของนาซา (NASA) ที่แสดงความทะเยอทะยานอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ภารกิจในอนาคตที่มีนักบินอวกาศร่วมสำรวจนั้นยาวนานมากยิ่งขึ้น และการทดสอบนี้จะเป็นผลประโยชน์โดยตรงกับวิสัยทัศน์ของนาซา (NASA)
และนี่ก็คือ ไมร่า (MIRA) หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอหุ่นยนต์ทุกคน และหากมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที