ผลการศึกษาตลาดแทบเล็ตในประเทศไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ของไอดีซี พบว่า ตลาดเริ่มต้นปีได้อย่างสดใส แม้แรงซื้อจะหดตัวลงเล็กน้อยจากภาวะน้ำท่วม และผู้บริโภคชะลอการซื้อเพื่อรอสินค้ารุ่นใหม่ โดยรายงาน “Media Tablet and eReader Tracker” ระบุว่า ภาพรวมตลาดแทบเล็ตเติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนประมาณ 250% และมียอดจัดส่งรวมกว่า 2 แสนเครื่อง นายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์สายงานวิจัยตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ ประจำไอดีซีประเทศไทย กล่าวว่า ความต้องการซื้อแทบเล็ตอยู่ระดับสูงกว่าปริมาณสินค้าในตลาดมาโดยตลอด ซึ่งผู้ผลิตได้แก้ปัญหานี้ต่อเนื่อง ทั้งพยายามพัฒนาคุณภาพสินค้า และใช้กลยุทธ์ตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างให้สินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของบริการบรอดแบนด์ไร้สายก็มีส่วนกระตุ้นให้ซื้อเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดแทบเล็ตทั้งปี 2555 ของไทยจะเติบโตถึง 125% คิดเป็นยอดจัดส่งประมาณ 1.3 ล้านเครื่อง ซึ่งรวมส่วนหนึ่งของโครงการแทบเล็ตเพื่อการศึกษาของรัฐบาลไว้แล้ว ขณะที่ตลาดผู้บริโภคภาคครัวเรือนยังเป็นตลาดหลัก และตลาดภาคธุรกิจ การศึกษาก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน รัฐต้องประเมินผลต่อเนื่อง นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีน บริษัท เอเอ็มดี ฟาร์อีสต์ กล่าวว่า การแจกแทบเล็ตของรัฐบาลจะเกิดผลดีก็ต่อเมื่อซอฟต์แวร์และคอนเทนท์ที่ใส่ลงไปในเครื่องช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรต้องมีระบบการตรวจสอบและประเมินผลการใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแผนรองรับที่ทำให้นโยบายครั้งนี้ไม่สูญเปล่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแทบเล็ตกำลังเป็นกระแสที่คนทั่วไปเริ่มนิยมซื้อหามาใช้ ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็ยังมองคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่าราคา โดยนโยบายแจกแทบเล็ตให้นักเรียนอาจช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมในแง่ที่กระตุ้นให้คนเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการใช้แทบเล็ตมากขึ้น นายสนธิญา หนูจีนเส้ง ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นของโครงการโอทีพีซีเป็นเสมือนการกระตุ้นระบบการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรครูและนักเรียนให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น จากการใช้คอมพิวเตอร์ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นหลักสูตรสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กนักเรียนในการศึกษาที่สูงขึ้น และนำมาใช้ได้จริงในชีวิต แทบเล็ตก็ทำหน้าที่คล้ายกันในเชิงเป็นสื่อการเรียน การสอนที่น่าสนใจ และให้นักเรียนคุ้นเคยกับอุปกรณ์ที่มีอยู่จริงนอกห้องเรียน แต่ สิ่งที่ต้องคำนึง คือ การพัฒนาและเรียนรู้แบบยั่งยืน ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่สร้างความตื่นเต้นในสังคมเท่านั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจถึงกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หลักสูตรเนื้อหาที่จะมาประยุกต์ใช้ การดูแลทะนุบำรุงเครื่อง รวมถึงความเหมาะสมทั้งด้านเนื้อหา และการใช้งานแทบเล็ตมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนไทย หลังส่งมอบแทบเล็ตเสร็จ ลำดับต่อไปก็ต้องประมวลผลและประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อไป ซึ่งหวังว่าท้ายสุดทุกฝ่ายจะมองภาพใหญ่ วิสัยทัศน์ที่ไกลออกไปมากกว่าปีต่อปี เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ผลงานชิ้นโบแดง ไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไอซีทีได้เริ่มโครงการไอซีที ฟรีไว-ไฟ ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากการแจกแทบเล็ต ป. 1 ที่ลงนามจัดซื้อแทบเล็ตเพิ่มเติมระยะที่ 2 ภายใต้โครงการจัดหาแทบเล็ตเด็ก ป. 1 กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลอปเมนต์ 403,941 เครื่อง ราคาเครื่องละ 82 ดอลลาร์ หรือมูลค่ารวมประมาณ 1,054 ล้านบาท ทั้งนี้ แทบเล็ตระยะแรก 4 แสนเครื่อง จะมาถึงไทยครบวันที่ 18 ส.ค.นี้ โดยตอนนี้มีเครื่องที่จัดส่งมาแล้ว 61,000 เครื่อง ซึ่งกำลังตรวจสอบ 50,000 เครื่อง ก่อนจัดส่งให้กระทรวงศึกษาธิการแจกจ่ายไปตามโรงเรียนทั่วประเทศ คาดว่าจะได้แทบเล็ตครบ 2 เฟส 8 แสนเครื่อง ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ “โครงการนี้ไอซีทีได้ทำตามนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้แม้จะมีความขลุกขลักบ้างในช่วงต้น หรือล่าช้า แต่การดำเนินการทุกอย่างก็เป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งการให้แทบเล็ตและฟรีไว-ไฟนั้น ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเรา” บทความจาก : http://bit.ly/SfUVNo