สวัสดีผู้ที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวสำคัญจะแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดสตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ เปิดตัวโดรนซีฟาร์เรอร์ ค้นหาสมบัติใต้น้ำด้วยคลื่นเสียงโซนาร์ พร้อมแยกประเภทโลหะได้ทันที รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับโดรนตัวนี้ ได้ดังนี้
- ซีฟาร์เรอร์ เอ็กซ์พลอเรชั่น (Seafarer Exploration) บริษัทสตาร์ทอัพจากรัฐฟลอริดา ในสหรัฐฯ เปิดตัวโดรนไฟฟ้า ซีเสิร์ชเชอร์ (SeaSearcher) ที่มีความสามารถค้นหาสมบัติใต้น้ำด้วยคลื่นเสียงโซนาร์ได้ โดยเตรียมเปิดให้บริการค้นหาสมบัติในเร็ว ๆ นี้
- สำหรับ ซีเสิร์ชเชอร์ เป็นโดรนที่สามารถดำได้ลึกสูงสุดถึง 100 เมตร สามารถตรวจจับ และจำแนกประเภทโลหะที่ฝังใต้พื้นทะเลได้ลึกถึง 10 เมตร รวมถึงเรนเดอร์แผนที่ 3 มิติของบริเวณที่สมบัติตั้งอยู่ออกมาได้ ทำให้ค้นหาสมบัติใต้ทะเลได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน ซีเสิร์ชเชอร์ ซึ่งเป็นตัวต้นแบบ สามารถบังคับได้ทั้งจากระยะไกล หรือใช้แบบการตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า หรือจะใช้แบบอวนลากด้านหลังเรือ เพื่อส่งสัญญาณตรวจจับโลหะ
- สำหรับการส่งสัญญาณ ซีเสิร์ชเชอร์ใช้วิธีการสองวิธี วิธีแรก พวกเขาใช้การลากทุ่น GPS ระบุด้วยตำแหน่งดาวเทียมลอยไปเหนือตัวโดรน เนื่องจากคลื่นวิทยุเคลื่อนตัวได้ไม่ดีในน้ำ และพิกัด GPS ของทุ่นนั้นจะถูกบันทึกและส่งไปยังลูกเรือที่เรือสนับสนุน บริเวณใกล้ ๆ แหล่งค้นหา
- แต่หากมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก หรือสภาพอากาศที่เลวร้ายอาจทำให้ทุ่นลอยห่างจากโดรนได้พอสมควร ซีเสิร์ชเชอร์จะเลือกระบบไทรแองกูเลชัน ซิสเต็ม (Triangulation System) ซึ่งเป็นระบบวัดระยะทางที่พัฒนาโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยพวกเขาจะใช้แท่นใต้น้ำที่แขวนอยู่ด้านข้างของเรือสนับสนุน รับและส่งสัญญาณคลื่นโซนาร์จากโดรน จากนั้นก็ใช้ตัวทุ่น GPS อีกฝั่งจับสัญญาณแล้วคำนวณหาพิกัดที่แท้จริงของตัวโดรนต่อไป
- ไคล์ เคนเนดี (Kyle Kennedy) CEO ของซีฟาร์เรอร์ เผยว่า พวกเขากำลังได้รับสิทธิ์ในการกอบกู้ซากเรือเก่า ๆ ตามแนวชายฝั่งของฟลอริดา และหากพบสมบัติ พวกเขาจะนำเอาสมบัติที่ตรวจพบมาเป็นเงินระดมทุนเพื่อพัฒนาโดรนซีเสิร์ชเชอร์รุ่นใหม่
- ส่วนความสามารถและรายละเอียดสเปกอื่น ๆ ของโดรนนั้น บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึก เนื่องจากเหตุผลด้านทางการค้า แต่ก็เผยเพียงหลักการทำงานเบื้องต้นว่าโดรนลำนี้ จะล่องไปตามพื้นทะเล แล้วปล่อยคลื่นวิทยุแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาพร้อม ๆ กับคลื่นเสียง จากนั้นก็จะสร้างแบบจำลองขึ้นมา แล้วใช้อัลกอริทึม ช่วยประมวลข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของวัตถุที่ฝังอยู่ และจำแนกประเภทของโลหะออกมาได้ในทันที
- ล่าสุด บริษัทได้นำโดรนไปทดสอบค้นหาสมบัติ บริเวณซากเรืออับปางในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และพบว่าสามารถตรวจจับ และจำแนกประเภทของโลหะ เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ตะกั่วและสแตนเลสได้
ทั้งนี้จะไม่มีการวางจำหน่ายตัวโดรน เนื่องจากบริษัทต้องการรักษาความลับทางการค้าไว้ ป้องกันการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีตัวเครื่อง และบริษัทจะเตรียมให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการตามล่าสมบัติใต้ท้องทะเลในอีก 6 เดือนข้างหน้า