8สวัสดีคอสงครามทุกคน วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจว่า ประเด็นไต้หวัน กำลังจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหาร ระหว่างจีนและสหรัฐฯ หรือไม่? ใครอยากทราบคำตอบก็ตามมาดูที่ด้านล่างนี้เลย
- นับแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดเหนือประเด็นไต้หวัน ทวีความรุนแรงขึ้น จนเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับรัฐมนตรีกลาโหม เริ่มมีการพูดคำว่า “สงคราม” และ “การต่อสู้” ออกมาแล้ว เพื่อพิทักษ์อธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของจีนเอง ที่ยืนกรานมาตลอดว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
- ก่อนที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่กำลังตึงเครียดและถกเถียงเพิ่มขึ้น คือ ช่องแคบไต้หวัน เป็นน่านน้ำสากลหรือไม่ และสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะเดินเรือเข้ามาได้จริงหรือ
จุดเริ่มต้นมาจากวาทกรรมไบเดน?
- จุดเริ่มต้นเดือนแห่งความตึงเครียดเหนือประเด็นไต้หวัน มาจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นว่า สหรัฐฯ พร้อมจะปกป้องไต้หวันทางการทหาร หากจีนใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน
- โดยคำกล่าวของไบเดน มีขึ้นหลังจีนส่งเครื่องบินรบเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ หรือ ADIZ ของไต้หวัน เพิ่มมากขึ้น และเป็นฝูงบินที่มีจำนวนมากขึ้นครั้งละหลายสิบลำ
- ส่งผลให้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน รัฐมนตรีกลาโหมจีน เว่ย เฟิ่งเหอ ที่อยู่ระหว่างการร่วมประชุมด้านความมั่นคง ‘แชงกรีลา ไดอะลอก’ ที่สิงคโปร์ ประกาศต่อรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสตินว่า “จีนไม่ลังเลที่จะต่อสู้ และจะสู้จนถึงที่สุด เพราะเป็นตัวเลือกเดียวของจีน…หากใครก็ตามพยายามแยกไต้หวันออกจากจีน” โดยสื่อตะวันตกรายงานว่า เว่ย เฟิ่งเหอ พูดกับออสตินว่า “จีนพร้อมจะทำสงคราม” ด้วยซ้ำ
แล้วจะเกิดการสู้รบขึ้นจริงหรือ?
- ข้อเท็จจริงคือ แม้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวมาตลอดว่า ต้องการไกล่เกลี่ยเรื่องไต้หวันด้วยสันติวิธี แต่จีนก็พร้อมจะใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน หากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน พยายามประกาศเอกราชออกจากจีน
- นักวิเคราะห์มองว่า ถ้าจีนส่งทหารเข้าควบคุมไต้หวัน นั่นอาจเป็นชนวนสู่การต่อสู้ทางทหารกับสหรัฐฯ ได้ หากโจ ไบเดน ทำตามที่สัญญากับไต้หว้นไว้ คือปกป้องไต้หวันทางทหาร แต่นักวิเคราะห์ฝั่งจีนมองว่า สหรัฐฯ อาจไม่กล้าทำเช่นนั้น และอาจทอดทิ้งไต้หวันได้เช่นกัน เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และไม่ต้องการกระทบกระทั่งกับจีนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะสหรัฐฯ เองก็จะเสียประโยชน์
- สำนักข่าว BBC อ้างอิงความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนว่า จีนเองก็มองว่าการเจรจาด้วยสันติวิธีต่อเรื่องไต้หวัน จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะการส่งทหารเข้าควบคุมไต้หวัน จนเสี่ยงเกิดการต่อสู้ จะเป็นผลเสียและร้ายแรงต่อความมั่นคงของจีน และทั้งโลกด้วย
- “มันมีวาทกรรมมากมาย แต่จีนก็ระวังอย่างมาก…โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตยูเครนอยู่ด้วย เพราะเศรษฐกิจจีนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่ากรณีของรัสเซีย” วิลเลียม ชุง นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าว
- สรุปแล้ว การรวมชาติอย่างสันติตามที่รัฐมนตรีกลาโหมจีนกล่าวย้ำ เป็นหนทางที่ดีที่สุด ยกเว้นว่าเกิดการยั่วยุร้ายแรง ยกตัวอย่างว่า รัฐบาลไต้หวันประกาศเอกราชออกจากจีนอย่างเป็นทางการ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แม้จะยืนยันว่าไต้หวันมีอธิปไตยของตนเองก็ตาม
สัญญาณดีคลายความตึงเครียด?
- สำนักข่าวจีนและชาติตะวันตกมองว่า อันที่จริง การเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมจีนและสหรัฐฯ ที่สิงคโปร์ รวมถึงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงจีนและสหรัฐฯ ในลักเซมเบิร์ก ในช่วงไม่กี่วันมานี้ เป็นสัญญาณบวกว่า ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะนั่งและเจรจากัน
- ภาพการนั่งหารือและเจรจากัน แม้อาจมีวาทกรรมที่รุนแรงอยู่บ้าง จะเป็นฉนวนป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ซึ่งภาพแบบนี้ถือเป็นสิ่งที่หายไปนาน นับแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์
- ด้านดอกเตอร์ เอียน ชง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งสิงคโปร์มองว่า จีนจะมุ่งใช้ยุทธศาสตร์แดนสีเทามากกว่าการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรง
- ยุทธศาสตร์แดนสีเทาที่ว่านี้ คือ การกดดันไต้หวันด้วยแสนยานุภาพทางทหาร ผ่านการส่งเครื่องบินรบลาดตระเวนใกล้ ๆ อย่างต่อเนื่อง จนไต้หวันแพ้ภัยตัวเอง
สหรัฐฯ ยั่วยุจีนไม่หยุด
- สำนักข่าว Global Times ของจีน รายงานอ้างอิงสำนักข่าว Nikkei ว่า สหรัฐฯ และไต้หวัน กำลังเตรียมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ ปลายเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามเปลี่ยน ‘สถานภาพปัจจุบัน’ ของประเด็นไต้หวัน
- Global Times มองว่า การหารือนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดจำหน่ายอาวุธให้ไต้หวันมากขึ้น ด้วยข้ออ้างว่า ต้องการให้ไต้หวันปกป้องตัวเองได้ แต่สำหรับจีน จะมองว่านี่เป็นการสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้ว นับแต่แชงกรีลา ไดอะลอก เลวร้ายลงไปอีก
- เพราะไม่เพียงประเด็นว่า จะเกิดการสู้รบ มีการใช้ทหาร หรือวาทกรรมเรื่องอธิปไตยของไต้หวันเท่านั้น แต่ภายหลังการหารือระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมจีนและสหรัฐฯ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ กำลังโต้เถียงกันในประเด็นว่า ช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากลหรือไม่
ช่องแคบไต้หวัน เป็นน่านน้ำสากลหรือไม่?
- ข้อถกเถียงนี้เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน จีนกล่าวว่า ตนเองมีสิทธิอธิปไตยและอำนาจทางการปกครองในช่องแคบไต้หวัน โดยปฏิเสธการกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ช่องแคบดังกล่าวอยู่ในน่านน้ำสากล
- หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า ช่องแคบไต้หวันอยู่ในน่านน้ำของจีนและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล หรือ UNCLOS
- “จีนมีสิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจศาลเหนือช่องแคบไต้หวัน และเคารพสิทธิตามกฎหมายของนานาประเทศ ในพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวข้อง” หวัง กล่าว
- โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “น่านน้ำสากล” ในสนธิสัญญา UNCLOS หลังบางประเทศตั้งใจที่จะสร้างข้อแก้ตัวในการบิดเบือนประเด็นไต้หวัน รวมถึงคุกคามอธิปไตยและความมั่นคงของจีน โดยอ้างว่า ช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล
- ตามสนธิสัญญา UNCLOS ประเทศต่าง ๆ สามารถอ้างอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตกว้าง 12 ไมล์ทะเล (ราว 22 กิโลเมตร) โดยวัดจากเส้นฐานที่กำหนดตามอนุสัญญา
- รวมถึงยังสามารถอ้างสิทธิ์ในน่านน้ำที่อยู่ห่างจากชายฝั่งได้ถึง 200 ไมล์ทะเล ให้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมีสิทธิอธิปไตยในห้วงน้ำและพื้นทะเล ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ แต่นานาประเทศยังคงมีสิทธิที่จะแล่นผ่านหรือบินผ่านน่านน้ำนี้ได้
สหรัฐฯ-ไต้หวัน โต้กลับ
- วันที่ 14 มิถุนายน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันตอบโต้ว่า คำกล่าวของจีนเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ “ช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล และน่านน้ำรอบนอกช่องแคบไต้หวัน อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพการเดินเรือของกฎหมายสากล”
- ไต้หวันยังระบุว่า เข้าใจและสนับสนุนภารกิจเดินเรือของเรือรบสหรัฐฯ ในช่องแคบไต้หวัน โดยระบุว่า จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค พร้อมยืนกรานว่า จีนไม่มีสิทธิอ้างกรรมสิทธิเหนือไต้หวัน เพราะชาวไต้หวันจะเลือกอนาคตของตนเอง
- วันที่ 15 มิถุนายน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เนด ไพรซ์ แถลงการณ์ว่า “ช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล หมายความว่า ช่องแคบไต้หวันอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง รวมถึงเสรีภาพการเดินเรือและบินผ่านน่านฟ้า ตามกฎหมายสากล”
- ดังนั้น “โลกมีผลประโยชน์ด้านสันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน และสหรัฐฯ พิจารณาเรื่องนี้เป็นประเด็นความมั่นคงและมั่งคั่งต่อความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”
- เนด ไพรซ์ ย้ำถึงความวิตกของสหรัฐฯ ต่อวาทกรรมและพฤติการณ์ของจีนว่าด้วยไต้หวัน พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าบิน แล่นเรือ และดำเนินการอะไรก็ได้ตามที่กฎหมายสากลอนุญาต รวมถึงการเคลื่อนผ่านช่องแคบไต้หวัน
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไต้หวันที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่านี่จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เพราะแน่นอนว่าความขัดแย้งครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้