โรคยอดนิยมก็ว่าได้สำหรับเจ้าโรค “กรดไหลย้อน” ที่หลายๆคนก็เป็นกัน บางคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่ามันเป็นยังไง หรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหากเป็นโรคนี้ ผมเลยหยิบยกมาฝากชาวไอทีเมามันส์กันครับ จะได้เตรียมรับมือกันได้และป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากเจ้าโรคนี้
“กรดไหลย้อน” หมายถึง โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน หรืออาจเกิดในขณะที่ยังไม่ได้กินอาหารก็ได้
โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหาร หรือที่นิยมเรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD) คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติ หลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงด้านล่างและหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร แต่ในปัจจุบัน หูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลงในบางคน ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาณ 1 ใน 5 คน พบในคนทั่วไป ทุกกล่ม ทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในคนอ้วน หรือสูบบุหรี่ และการไหลย้อนของกรด ถ้ามีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ ซึ่งหากละเลยไม่ไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
ภาวะของโรคกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
- ระดับแรก ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนบ้างในบางครั้ง เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แล้วก็หายไป ไม่มีผลต่อสุขภาพมากมาย (Gastro-Esophageal Reflux : GER)
- ระดับสอง ผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาเฉพาะที่บริเวณหลอดอาหาร (Gastro-Esophageal Reflux Disease : GERD)
- ระดับสาม ผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนไหลขึ้นไปถึงกล่องเสียง หรือหลอดลม (Laryngo-Pharyngeal Reflux : LPR)
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน นอกจากจะเกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหารในตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นเสริมอีกด้วย เช่น
- กินเสร็จอิ่มๆ หรือกินอาหารเสร็จยังไม่ถึง 4 ชั่วโมงแล้วนอน
- Hiatus hernia คือ โรคที่เกิดจาก กระเพาะอาหารส่วนต้น ยื่นเข้าไปกะบังลม
- สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์, น้ำอัดลม
- รับประทานอาหารประเภท ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
โรคนี้พบได้ในคนทั่วไป ทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ มักพบได้มากในคนอ้วนหรือสูบบุหรี่ หากการไหลย้อนของกรดมีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร ทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะจะทำให้มีอาการเรื้อรัง กลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
โดยปกติบริเวณรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่คล้ายหูรูดคอยป้องกันการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหาร เมื่อใดที่กล้ามเนื้อหูรูดทำหน้าที่ไม่ดี จะทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยเรียกว่า “เรอเหม็นเปรี้ยว” ถ้าเป็นมากจนเกิดอาการอักเสบของหลอดอาหารหรือมากกว่านั้น เรียกว่า กรดไหลย้อน
อาการทางหลอดอาหารนั้นจะเจ็บแสบที่หน้าอกและลิ้นปี่ มักเกิดหลังขึ้นหลังการทานอาหาร ซึ่งต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด ที่มีลักษณะบีบคั้นหนักๆ หรือแน่น หรือมีอะไรขัดๆ หรือปวดตื้อๆ หลังออกกำลังกาย รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ กลืนลำบาก รู้สึกติดๆ ขัดๆ เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในคอ หรือกดกลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบปากหรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในคอหรือหน้าอก เหมือนอาหารไม่ย่อย เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง เป็นต้น
แนวทางการป้องกันและปฏิบัติตัว
การรักษาคือ เปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้อาการน้อยลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการอักเสบเป็นซ้ำ โดยลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะเอว ควรกินอาหารที่มีไขมันต่ำ ไม่ควรนอนทันทีหลังกินอาหาร ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ไม่ควรซื้อยากินเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ควรกินยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดทานเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับขนาดยา
Reference
- กรดไหลย้อน ป้องกันได้ at thaihealth
- โรคกรดไหลย้อน at wikipedia