ไร่แม่ฟ้าหลวง หรือ อุทยานศิลปวัฒนธรรมล้านนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นสถานที่ให้ศึกษาแก่เยาวชนชาวเขา ได้มาอยู่อาศัยที่นี่แบบครอบครัวในตัวเมือง เพื่อที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้กลับไปให้ความรู้แก่ชุมชนเดิมต่อไป เป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไร่แม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางผ่านหน้าค่ายเม็งรายมหาราช ภายในไร่แห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “อุทยานแห่งความสงบงามอย่างล้านนา” บรรยากาศจึงอบอวลด้วยความงดงามแบบล้านนาดั้งเดิม
นอกจากจะเป็นความร่มรื่นของแมกไม้แล้ว ยังมีมีอาคารสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ หอคำ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตามลักษณะเรือนศิลปะล้านนาโบราณ ภายในจัดแสดงสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนบูชาไม้แกะสลักโบราณและเป็นที่ประดิษฐานพระพร้าโต้ พระไม้โบราณของล้านนา ตลอดจนพระพุทธรูปอื่นๆ ทั้งศิลปะแบบล้านนาและพม่า
อุทยานศิลปะวัฒนธรรมล้านนา เดิมชื่อ ไร่แม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา (Hill Tribe Youth Leadership) โดยการนำเยาวชนชาวเขาจากหมู่บ้านห่างไกลคมนาคม มาอยู่รวมกันแบบครอบครัวที่ไร่แม่ฟ้าหลวง มอบทุนพระราชทานเพื่อเล่าเรียน และอบรมเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น พึ่งพาตนเอง รับผิดชอบในการงาน ตรงต่อเวลา และมีความซื่อสัตย์ ที่นี่เองคือ “บ้าน” ใหม่ของเยาวชนชาวเขาไทยผู้มาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตและฝึกงาน ตามแนวพระราชดำริ ก่อนจะเติบโตแยกย้ายกันไปประกอบสัมมาชีพตามอัธยาศัย โครงการสิ้นสุดลงเมื่อการศึกษาได้ขยายเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เยาวชนได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนใกล้หมู่บ้าน ไร่แม่ฟ้าหลวงจึงเปลี่ยนเป็น อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง สถานที่เก็บรักษางานพุทธศิลป์เก่าแก่ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ สถาปัตยกรรมล้านนา ศิลปวัตถุรังสรรค์จากไม้สัก และให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกล้านนาในปัจจุบัน
บนพื้นที่ 150 ไร่ของอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงประกอบด้วยสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น หอคำ
หอคำ
ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง รูปทรงอาคารสอบเข้าตามลักษณะเรือนล้านนาโบราณ หลังคาแป้นเกล็ดเป็นแผ่นไม้สัก วางซ้อนเหลื่อมแทนแผ่นกระเบื้อง ลวดลายประดับได้มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่างพื้นบ้านผู้ก่อสร้างจากจังหวัดเชียงรายและแพร่ ช่างแกะสลักจากเชียงใหม่และลำพูน ชาวเชียงรายร่วมใจสร้างหอคำแห่งนี้ถวายเป็นเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาเมื่อปีพุทธศักราช 2527
ภายในหอคำคือศูนย์กลางแห่งศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุและงานพุทธศิลป์อายุกว่า 200 ปี เช่น พระพร้าโต้องค์ประธาน มีจารึกว่าสร้างในปี พ.ศ. 2236 โดยฝีมือชาวบ้านซึ่งเพิ่งเข้ามาในพื้นที่ และยังไม่มีเครื่องมือเหมาะสมในการสลักเสลาพระพุทธรูปไม้ จึงใช้เพียงมีดโต้แกะสลักเป็นพระพุทธรูป ที่มีลักษณะแข็งแรง สง่างาม เป็นความงามในเชิงพุทธศิลป์และเป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจของผู้ศรัทธา พระพุทธรูปโบราณต่างๆ พุทธศิลป์แบบพม่า ไทใหญ่ ลาว สิบสองปันนา เชียงตุง เมืองยอง และล้านนา เช่น พระพุทธรูปแบบพม่า แกะสลักโดยช่างที่มีความสามารถพิเศษ ทำให้ชายผ้าดูคล้ายโบกไหวได้ และเครื่องไม้อันงดงามวิจิตรที่ใช้ในการพระศาสนา เช่น สัตภัณฑ์ เชิงเทียนไม้แกะสลัก ตุงกระด้าง ตุงหรือธงที่แกะสลักจากไม้ ขันดอก ภาชนะสำหรับใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ
นอกจากนี้ ยังมีหน้าบันแผ่นไม้ทรงสามเหลี่ยม อยู่ 5 ชิ้น แกะสลักเป็นรูปสัตว์ห้าชนิดสัญลักษณ์นักษัตร ตามปีพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา
ลานพระรูปปั้นแม่ฟ้าหลวง
พระรูปปั้นแม่ฟ้าหลวง เป็นพระรูปสัมฤทธิ์ (บรอนซ์) ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง เป็นผลงานของประติมากรหญิง คุณมิเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม (พ.ศ. 2494) คนแรกของประเทศไทย ประดิษฐานบนเนินในสนาม ระหว่างเส้นทางสู่หอคำน้อย พระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนหิน ฉลองพระองค์ชุดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทรงพระมาลา เป็นภาพคุ้นตาราษฎรที่ได้เห็นสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงฉลองพระองค์ทะมัดทะแมง ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลกันดาร เสด็จลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ราษฎรพากันขนานพระนาม “แม่ฟ้าหลวง”
หอคำน้อย
หอคำน้อย อยู่ทางทิศใต้ของหอคำ เป็นอาคารศิลาแลงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สัก เป็นสถานที่เก็บภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีฝุ่นบนกระดานไม้สัก จากวัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่
หอแก้ว
หอแก้ว เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับไม้สัก และนิทรรศการชั่วคราวอื่นๆ ที่หมุนเวียนกันไป ตัวอย่างศิลปะวัตถุไม้สักที่นำมาจัดแสดงในหอแก้วได้แก่ ศาลพระภูมิ วงปีของไม้สักพระพุทธรูป นาคทัณฑ์ หน้าบัน โก่งคิ้ว กาแล ช่อฟ้า หางหงส์-ป้านลม หัวเสา ดาวเพดาน แผงแล หำยนต์ขันดอก ขันแก้วตังสาม ต้นบายศรี อาสนา ตุงกระด้าง หีดธรรม (หีบพระธรรม) ก๊างธรรม เป็นต้น
นอกจากอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงจะมีความภาคภูมิใจในฐานะได้มีโอกาสเป็นผู้ดูแลรักษาศิลปะที่มีคุณค่าเหล่านี้ ให้สาธารณชนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรมที่งดงามแล้ว ภูมิสถาปัตยศิลป์ของอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงที่ได้จัดวางเพื่อให้ผู้มาเยือนได้รื่นรมย์ใจในธรรมชาติ ก็สามารถปรับแปลงเป็นลานพิธีกรรมหรือสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่างๆ ได้อย่างงดงามยิ่ง โดยอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ละคร งานเลี้ยงรับรอง พิธีต้อนรับอาคันตุกะ ประมุขรัฐ ผู้มีชื่อเสียง และประกอบพิธีกรรมพื้นเมืองมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวเชียงรายและผู้เคยได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมใจจัดถวายเพื่อน้อมคารวะแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
Reference
- ไร่แม่ฟ้าหลวง at tourismthailand
- อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง at maefahluang